top of page
Writer's pictureADGES

Technology bridges 'Skill-Gaps'

เทคโนโลยี ช่วยเชื่อมโยงช่องว่างของทักษะ (Skills gap) ได้อย่างไร?

อนาคตของการทำงานมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการเพิ่มขึ้นของเครื่องจักรกลและระบบอัตโนมัติ เราจึงจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถด้านทักษะต่างๆ ให้กับแรงงานในปัจจุบัน เพื่อช่วยให้พวกเขายังคงเป็นที่ต้องการในองค์กร

หนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่เราเผชิญอยู่ทั่วโลกในทุกวันนี้ก็คือช่องว่างของระดับทักษะ (Skills gap) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้เชี่ยวชาญจาก McKinsey และ PWC คาดการณ์ว่า ในทศวรรษหน้า องค์กรหรือบริษัทต่างๆ จะมีการใช้งานหุ่นยนต์และ AI แทนแรงงานคนถึงร้อยละ 30-50 ซึ่งหากมันเกิดขึ้นจริง เราจำเป็นต้องฝึกอบรมและเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะที่เป็นส่วนสำคัญสำหรับการทำงานในองค์กร หรือ 4Cs ซึ่งประกอบไปด้วย Critical thinking, Creativity, Communication และ Collaboration ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งที่ AI และหุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ามนุษย์

ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เราต้องกำหนดจุดประสงค์ของการเรียนรู้ การเข้าถึงเนื้อหาความรู้ที่จำเป็นได้ตลอดเวลาเพื่อส่งเสริมแนวคิดการเรียนรู้ร่วมกันและการเรียนรู้ตลอดชีพ (Lifelong learning) ตามแนวทาง MPPG (Mobile-first, Participatory, Personalized และ Group-based learning)

1. Mobile-first กว่าร้อยละ 44 ของประชากรทั่วโลกมีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง ดังนั้นการออกแบบสื่อการเรียนรู้ที่รองรับการแสดงผลของสมาร์ทโฟนจึงเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง พวกเขาสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ตลอดเวลาที่ต้องการ

2. Participatory การมีส่วนร่วมเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์จริงเป็นแนวทางการพัฒนาทักษะที่ดีกว่าการนั่งเรียนในห้องเรียนหรือการเรียนจากวิดีโอ เมื่อแรงงานมีโอกาสได้เรียนรู้จากการมีส่วนร่วม จะทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึกว่าตัวเอง ‘เป็นเจ้าของความรู้’ นั้น ซึ่งนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการเห็นคุณค่าของความรู้ที่พวกเขาได้รับมา

3. Personalized เพราะแต่ละบุคคลมีวิธีโต้ตอบกับปัญหาและแก้ปัญหาที่ต้องเจอแตกต่างกันออกไป ดังนั้นการเรียนรู้ส่วนบุคคล โดยให้แต่ละคนแก้ปัญหาในแบบของตัวเองจึงเป็นวิธีการพัฒนาทักษะเฉพาะของแต่ละคนได้เป็นอย่างดี อาจใช้การทำแบบทดสอบหรือการสร้างสถานการณ์เฉพาะเพื่อให้คนเหล่านั้นทดลองแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน

4. Group-based นอกจากการเรียนรู้แบบส่วนบุคคลแล้ว การเรียนรู้แบบกลุ่มก็เป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะเป็นวิธีการพัฒนาทักษะการสื่อสารและการทำงานร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ เราสามารถแบ่งปันประสบการณ์ต่างๆ แบ่งปันความรู้และร่วมมือกันทำงานแต่ละชิ้นผ่านการเรียนรู้ทางสังคม (Social learning) ร่วมกับคนในกลุ่ม

เราอยู่ในโลกอันซับซ้อนและไม่แน่นอน ซึ่งมนุษย์กับเทคโนโลยีกำลังเรียนรู้กันและกัน เวลาในการพัฒนาตัวเองเพื่อปิดช่องว่างของทักษะกำลังลดน้อยลง ดังนั้น ADGES จึงเล็งเห็นว่าการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง รวมถึงแรงงานในองค์กรนั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยแนวคิด MPPG ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยลดช่องว่างการเรียนรู้และลดช่องว่างของทักษะที่เกิดขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจสำหรับการพัฒนากำลังแรงงานในอนาคต

35 views0 comments
bottom of page