การโค้ชชิ่ง (Coaching) คือ การที่ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ พัฒนาและช่วยผู้อื่นค้นหาศักยภาพในตัวเอง นอกจากนี้อาจรวมถึงการช่วยแก้ไขปัญหา ชี้แนะแนวทางและทำให้พวกเขามองเห็นโอกาสปกติแล้วอาจมองไม่เห็นด้วยตัวเอง แต่หลายคนที่ต้องการ ‘Coaching’ ให้ผู้อื่น อาจมีข้อสงสัยว่า บทพูด หรือบทสนทนาระหว่างการ Coaching ที่ดีควรเป็นอย่างไร?
เพราะเหตุใด การสื่อสารจึงมีความสำคัญสำหรับการ Coaching?
การพูดคุยระหว่างผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับคำปรึกษานั้นไม่ใช่แค่การพูดถึงเป้าหมายและความฝันในชีวิตเท่านั้น แต่บทสนทนาระหว่างการ Coaching ยังช่วยทำให้มองเห็นแนวคิดใหม่ๆ และแนวทางการแก้ปัญหาอีกด้วย ดังนั้นการพูดคุย การสื่อสาร หรือบทสนทนาที่เหมาะสมระหว่างกระบวนการ Coaching จึงมีส่วนสำคัญอย่างมาก เพื่อให้ทั้งผู้ที่เป็นที่ปรึกษาและผู้ฟัง สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้
ลักษณะของการ Coaching ที่ดี
บทสนทนาระหว่างกระบวนการ Coaching ต้องมีประสิทธิภาพ ผู้ให้คำปรึกษาต้องมีทักษะในการสื่อสารอย่างมาก เพื่อให้สามารถพูดคุยในประเด็นที่ละเอียดอ่อนโดยไม่กระทบกับความรู้สึกของผู้ฟังเพราะอาจต้องมีการพูดคุยถึงความรู้สึกและความสามารถส่วนตัวของพวกเขา นอกจากนี้ยังต้องมุ่งมั่นและตรงประเด็น เพื่อคุมการพูดคุยให้อยู่ในกรอบของเป้าหมายที่วางไว้โดยไม่ให้อารมณ์ส่วนตัวมาทำให้การพูดคุยมีประสิทธิภาพลดลง
บางคนอาจมองว่าการ Coaching คล้ายกับการให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยา แต่อันที่จริงแล้ว กระบวนการนี้มุ่งเน้นไปที่เป้าหมายและผลลัพธ์ในอนาคต ด้วยการถามคำถามกับผู้ฟังเพื่อให้พวกเขาตอบอย่างตรงไปตรงมา มากกว่าการมองย้อนกลับไปแก้ไขปมในอดีต
ในโลกของธุรกิจนั้น ทักษะการแก้ปัญหาและการทำงานอย่างเป็นระบบมีความสำคัญอย่างมาก การ Coaching ต้องสร้างทัศนคติเหล่านั้นให้เกิดขึ้นระหว่างการสนทนา ผู้เข้ารับคำปรึกษาอาจมีปัญหาที่ตนเองแก้ไขไม่ได้ เมื่อพบกับเหตุการณ์นี้ ผู้เป็นโค้ชต้องรู้ว่าควรใช้วิธีพูดแบบไหน เพื่อสร้างกำลังใจและเปลี่ยน Mindset ของพวกเขา จนกระทั่งทำให้บุคคลเหล่านั้นกลับมาทำงานได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุดให้แก่องค์กร
นอกจากนี้การ Coaching ยังไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในหลักสูตรฝึกอบรม การประชุม หรือชั่วโมงการปรึกษาโดยเฉพาะเท่านั้น เพราะบทสนทนาดีๆ อาจเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา อาจเป็นแค่ช่วงสั้นๆ ระหว่างพักกลางวันก็ได้ ดังนั้นผู้มีหน้าที่ให้คำปรึกษาจึงต้องพร้อมที่จะพูดคุยแม้จะไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยประสบการณ์ ความรู้และความเข้าใจทั้งในด้านบุคคลรวมถึงการทำงานในองค์กร
ปัจจุบันผู้นำจำนวนมากไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์และการสนทนากับคนในทีมหรือองค์กรเท่าไรนัก โดยเฉพาะการพูดคุยแบบรายบุคคล ทั้งๆ ที่จริงแล้ว ผู้นำควรมีบทสนทนาที่ดีกับบุคคลอื่นๆ ให้มากขึ้น เพื่อสร้างระบบการทำงานที่ลื่นไหลและทำให้องค์กรมีความเป็นธรรมชาติ รวมถึงเพื่อผลลัพธ์ที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานทุกคน
เรียนรู้หลักการสนทนาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรด้วยหลักสูตรการฝึกอบรมจาก ADGES สนใจสอบถามข้อมูล e-mail: marketing@adges.net หรือ 6688-028-1111 หรือเว็บไซต์ https://www.adges.net/