top of page
Writer's pictureADGES

Orchestrating the Winning Team - Leadership Lesson from Professor Ian Woodward (INSEAD)


ดนตรีสร้างขึ้นโดยการผสมผสานระหว่างทำนอง (Melody) ความกลมกลืน (Harmony) และจังหวะ (Rhythm) Professor Ian Woodward ผู้ที่เป็น Professional ทางด้าน Leadership ของทาง INSEAD บอกกับเราทุกคนที่มาร่วมงาน Future Ready Summit ที่ทาง INSEAD Asia Campus ที่ Singapore ได้เชิญผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำจาก Southeast Asia กว่าสี่สิบท่าน ได้กล่าวกับพวกเราก่อนที่จะเริ่ม Session ในเรื่องของ Leadership through Performance

โดยกิจกรรมแรก Ian ให้พวกเราลองหาที่นั่งใน Auditorium ที่เรียนสอนศิลปะที่สิงค์โปร์ที่มีชื่อว่า School of the Arts Singapore (SOTA) ก่อนที่จะเริ่มบรรเลงเพลง Symphony No. 15 ประพันธ์เพลงโดย Wolfgang Amadeus Mozart บรรเลงเพลงโดยวง Metropolitan Festival Orchestra ซึ่งเป็นวง Orchestra ประกอบด้วยนักดนตรีมืออาชีพ

เมื่อวง Orchestra ได้บรรเลงเพลงจบ Ian ได้ขอให้พวกเราลุกขึ้นพร้อมขอให้ไปนั่งในเก้าอี้ว่างที่ได้ถูกจัดเตรียมไว้ข้างๆนักดนตรี เมื่อพวกเราเดินจากที่นั่งคนดูไปนั่งรวมกับนักดนตรีเรียบร้อยแล้ว Ian และวง Orchestra ได้บรรเลงเพลงเดิมอีกครั้ง

เมื่อบรรเลงเพลงจบ Ian กลับมาถามพวกเราว่า รู้สึกอย่างไร? โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับครั้งแรก สักพักพวกเราตอบ Ian ว่า ‘รู้สึกมีพลังมากขึ้น’ ‘รู้สึกมีส่วนร่วมมากขึ้น’ ‘รู้สึกได้ว่ามีการสื่อสารระหว่าง conductor กับผู้เล่นมากกว่าที่เห็นจากการเป็นคนดู’ พวกเราเริ่มแย่งกันตอบพร้อมทั้งมองหน้ากันเพราะรู้สึกว่า มันดีเหมือนกันนะ แต่ละคนก็คงฟังการบรรเลงเพลง Classic มาไม่มากก็น้อยในบทบาทของคนดู แต่คราวนี้ต่างไปจากเดิมและเป็นครั้งแรกที่เราได้มานั่งรวมกับนักดนตรี ซึ่งอย่างน้อย Ian คงจะอยากพูดเรื่องมุมมองและการเปลี่ยน perspective แต่ก็ยังคงสงสัยว่าวง Orchestra จะมาเกี่ยวกับเรื่อง Leadership อย่างไร?

จนกระทั่งมีท่านหนึ่งพูดขึ้นมาว่า ‘รู้สึกฟังไม่รู้เรื่องเพราะนั่งใกล้กับ French Horn (เครื่องเป่าที่ให้เสียงทุ้มและมีขนาดใหญ่มาก)’ ถึงตอนนี้ Ian กลับยิ้ม พร้อมทั้งบอกให้เรานึกอุปมาอุปไมยว่า ตรงที่เรานั่งเป็นแผนกของเรา แน่นอนที่สุดเรามักที่จะเอาเราเป็นตัวตั้ง และก็ไม่แปลกที่เสียงที่ดังที่สุดและเสียงที่เราเลือกที่จะฟัง ก็คือเสียงที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดนั้นเอง และนั้นคือปัญหาของการสื่อสารในองค์กรตรงที่เราเลือกที่จะฟังเสียงที่ดังที่สุดที่มาจากแผนกของเรา ถึงแม้ว่าเสียงนั้นอาจจะไม่ใช่ดนตรีที่เพราะที่สุดหรือดนตรีที่เราควรจะบรรเลงให้ลูกค้าของเราฟัง

มาถึงตรงนี้ผมรู้แล้วว่าบทเรียนครั้งนี้คงไม่ธรรมดา บ่อยครั้งเราอธิบายภาวะผู้นำและการบริหารจัดการองค์กรด้วยศัพท์แสงที่ดูวุ่นวาย มีแนวคิดจากกูรูโน่นกูรูนี่จนแทบจะเรียนกันไม่หวาดไม่ไหว แต่เมื่อบทเรียนตรงหน้าเป็นเรื่องการอุปมาอุปไมยถึงบทบาทของ Conductor หรือวาทยากรจะสร้างสรรค์บทเพลงจากโน้ตเพลงที่เขียนไว้มากกว่าสามร้อยปีได้อย่างไร แถมผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ได้ยินได้ เข้าถึงได้

ลองมาดูนะครับว่าในเกือบสองชั่วโมง Ian ได้ทำการนำเสนอเรื่อง Orchestrate Winning Team ผ่านวง Orchestra สามารถเปลี่ยนมุมมองพวกเราทั้งสี่สิบคนอย่างไรบ้าง

1. The Score บทเพลง

Ian ได้อธิบายต่อโดยพูดถึงองค์ประกอบของวง Orchestra ซึ่งเป็นวงดนตรีบรรเลงขนาดใหญ่จะมีองค์ประกอบย่อยๆโดยเป็นการผสมผสานเครื่องดนตรีจากตระกูลต่าง ๆ รวมถึงเครื่องสาย เช่น ไวโอลิน วิโอลา เชลโล และดับเบิลเบส รวมถึงเครื่องดนตรีทองเหลือง เช่น ฮอร์น ทรัมเป็ต ทรอมโบน และ ทูบา และเครื่องเป่าอย่างขลุ่ย คลาริเน็ต และเครื่องเคาะ เช่น กลอง กลองเบส Orchestra มักจะนำโดยผู้ควบคุมวงที่กำกับการแสดงด้วยการเคลื่อนไหวของมือและแขนซึ่งมักจะทำให้นักดนตรีมองเห็นได้ง่ายขึ้นโดยใช้ Baton ของวาทยากร โดยวาทยากรจะเริ่มจากการเข้าใจบทเพลงที่ผู้ประพันธ์ได้เขียนเอาไว้ ซึ่งโดยส่วนมากจะเขียนไว้เป็นสองสามร้อยปีที่แล้วเพื่อจะนำมาบรรเลงตามการตีความของตนเอง

หากเปรียบกับองค์กรคงเป็นเหมือน CEO ที่ต้องมีความเข้าใจก่อนว่าวิสัยทัศน์รวมถึงกลยุทธ์องค์กรที่จะต้องไปให้ถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้นั้นเป็นอย่างไร ส่วนนักดนตรีในวงคงเป็นเหมือนหน่วยงานและแผนกต่างๆที่ต้องทำงานด้วยกันตามจังหวะและกลยุทธ์ที่มาจากวาทยากรหรือ CEO โดยการทำงานประสานกันก็มักจะมีรูปแบบการสื่อสารภายในองค์กร Ian บอกว่าในวง Orchestra ก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าเราไม่ได้เห็นผู้เล่นมาพูดคุยและสื่อสารกันด้วยภาษาพูด แต่แท้จริงแล้วภายในวงเองจะมีการสื่อสารระหว่างผู้เล่นผ่าน conductor และระหว่างผู้เล่นด้วยกันเอง ซึ่งหากว่าเรานั่งเป็นคนฟังคงไม่ได้สังเกตุเห็นถึงการสื่อสารระหว่างผู้ควบคุมวงถึงนักดนตรีหรือระหว่างนักดนตรีด้วยกันเองมากเท่าไร

Ian พูดถึงแนวคิดในเรื่องการเป็นผู้นำในสามระดับหรือ Leadership Altitude โดย Ian กล่าวว่าผู้นำที่ดีจะต้องสามารถเชื่อมโยงการทำงานได้ในสามระดับ นั่นก็คือ

ที่ระดับ 50,000 Feet คือระดับสูงสุดที่เครื่องบินพาณิชย์จะสามารถบินได้ ผู้นำต้องสามารถเห็นภาพรวมขนาดใหญ่ (Big Picture) ให้ได้ ผู้นำต้องเข้าใจถึงสิ่งที่จะกระทบกับองค์กรไม่ว่าจะเป็น Digital Disruption การเปลี่ยนไปของตลาดและลูกค้า ผู้นำต้องสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง โน้มน้าวและสร้างแรงบันดาลใจ

ที่ระดับ 50 Feet เป็นระดับที่เกิดความคิดครอบคลุมเป้าหมายระยะสั้นที่เริ่มจะมีรายละเอียดมากขึ้น สิ่งสำคัญคือผู้นำจำเป็นที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์ รวมถึงการสร้าง Network ทั้งภายในและภายนอกองค์กร

ที่ระดับ 5 Feet ผู้นำต้องเกิดความตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Awareness) รวมถึงการเข้าใจ จุดแข็ง จุดอ่อน และแนวทางในการพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเป็นผู้นำของตน ผู้นำที่ดีและมีประสิทธิภาพคือผู้นำที่สามารถสลับปรับเปลี่ยนมุมมองของตนผ่านระดับการเป็นผู้นำทั้งสามระดับได้อย่างต่อเนื่องและลื่นไหลโดยไม่สะดุดหรือยึดติดอยู่กับระดับใดระดับหนึ่ง

แต่บ่อยครั้งผู้นำกลับหลงอยู่ในระดับความสูงใดความสูงหนึ่งจนขาดการเชื่อมต่อและประสานกับองค์กร และขาดความเข้าใจสภาพตามความเป็นจริง เมื่อบินสูงในระดับวิสัยทัศน์ก็ขาดความเข้าใจว่าควรจะเล่นบทเพลงใดหรือจะสามารถโน้มน้าวและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักดนตรีได้อย่างไร เมื่ออยู่ในระดับล่างสุดหรือในระดับ Tactical ก็ยังเข้าไม่ถึงหน้างานจริง และเมื่อนั้นผู้นำท่านนั้นก็จะเกิดอาการ Altitude Sickness คือ อาการแพ้ความสูงนั้นก็คืออยู่ในสภาพที่ไม่สามารถปรับระดับความสูงตามสภาพแวดล้อมซึ่งก็จะทำให้เกิดผลเสียอย่างมหาศาลให้กับองค์กรและกับตัวเองอย่างเลี่ยงไม่ได้

เพื่อไม่ให้เกิดสภาวะ Altitude Sickness ผู้นำจำเป็นที่จะต้องมีการทำ Fine Tuning และ Alignment กับองค์กรนั้นเอง ในการเล่น Orchestra ก่อนเล่นนักดนตรีทั้งหมดจะเล่นโน้ตที่ให้คลื่นความถี่ที่ 440 Hz เพื่อให้แน่ใจว่าเกิดการปรับจูนเสียงให้เข้ากันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในวง Orchestra มักที่จะมอบบทบาทในการทำ Alignment ให้กับผู้ควบคุมผู้เล่น Violin ซึ่งมักจะถูกเรียกว่า Concert Master หรือเป็นมือรองอันดับสองจาก Conductor โดยจะรับหน้าที่เป็นผู้นำในการให้นักดนตรีทั้งหมดมาเล่นตัวโน้ตที่มีความถี่ที่ 440 Hz พร้อมทั้งใช้ประสบการณ์ของตนในการฟังว่าผู้เล่นทั้งหมดมีการปรับจูนเสียงให้เข้ากันแล้วหรือยัง

หากเปรียบเทียบก็คงเหมือนกับการทำงานในองค์กรซึ่งเมื่อทำงานกันไปสักพักแล้ว ต้องหันกลับมาดูว่าเรายังเล่นโน้ตที่ปรับจูนกันแล้วสามารถสร้างสรรค์บทเพลงเดียวกันหรือไม่ มันคงไม่มีประโยชน์อันใดถ้าพนักงานในองค์กรต่างคนต่างทำงานขยันขันแข็งแต่ไม่ได้เล่นบทเพลงเดียวกัน หัวหน้าทีมต่างแข่งกันเล่นเพลงของตนเองจนฟังแทบไม่รู้เรื่อง มารู้ตัวอีกทีก็เมื่อไม่เหลือลูกค้าและนักดนตรีที่จะเล่นเพลงอีกต่อไป เมื่อวงดนตรีได้มีการปรับจูนเสียงให้เข้าใจก็จะสามารถบรรเลงเพลงได้อย่างไพเราะและหลากหลาย Style ตามความต้องการของวาทยากรที่เราสามารถเห็นได้จากใน Clip ข้างล่าง

2. The Style รูปแบบการเป็นผู้นำ

ในเรื่องของรูปแบบการเป็นผู้นำ การเล่นดนตรีแบบ Orchestra จะทำให้เราเห็นว่ามีรูปแบบการควบคุมวงอย่างชัดเจนโดยมีวาทยากรยืนอยู่ข้างหน้าและมีนักดนตรีที่พร้อมจะรอรับสัญญาณซึ่งส่งมาจากผู้ควบคุมวง เพื่อเล่นตามโน้ตที่กางไว้ตรงหน้า และเมื่อวาทยากรให้สัญญาณนักดนตรีก็จะเล่นตามที่ตกลงกันไว้ โดยปรกติมักจะเป็นบทเพลงที่ไพเราะ เพราะว่านักดนตรีทุกคนคงจะต้องมีทักษะในการเล่นดนตรีเป็นอย่างดีและทางวง Metropolitan Festival Orchestra คงมีระบบการคัดเลือกนักดนตรีที่เก่งมาร่วมวง

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในอดีตการทำงานหรือรูปแบบการเป็นผู้นำแบบนี้จะถูกเรียกว่าเป็นรูปแบบ Command and Control คือเป็นแบบ CEO รู้ทุกอย่าง Ian เล่าให้เราฟังว่าในอดีตมีวาทยากรชาว Italian ชื่อว่า Arturo Toscanini ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องความเก่งกาจ แต่ใช้วิธีในการนำวงที่ดุดันและโหดพอสมควร โดย Arturo พูดไว้ว่า 'พระเจ้าเป็นคนบอกเขาว่าควรจะบรรเลงเพลงอย่างไร แต่ข้อจำกัดคือนักดนตรีที่ไม่สามารถเล่นให้ได้ดังใจเขา'

การบริหารแบบ Command and Control ในอดีตที่ผ่านมาก็อาจจะได้ผล แต่ถ้ามองการเป็นผู้นำองค์กรในปัจจุบันแล้วอาจจะคาดหวังให้ทุกอย่างชัดเจนและให้เล่นตามโน้ตที่อยู่ข้างหน้าคงจะยาก การขับเคลื่อนองค์กรในปัจจุบันโน้ตที่กางอยู่ตรงหน้าอาจจะไม่ได้ชัดเจน นักดนตรีเองจำเป็นต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนตลอดเวลา วาทยากรเองก็พยายามจะเล่นเพลงที่คิดว่าเป็นเพลงที่เพราะที่สุด และเป็นเพลงซึ่งลูกค้าน่าจะชอบฟังที่สุด แต่สุดท้ายแล้วถ้าลูกค้าอยากจะฟังเพลงอื่นก็จำเป็นที่จะต้องสามารถปรับเปลี่ยนระหว่างเพลงได้ ดังนั้น วาทยากรและนักดนตรีที่ไม่พร้อมจะเปลี่ยนอาจจะไม่เหลือคนฟัง โดยรูปแบบการเป็นผู้นำที่ล้มเหลว หรือ Mismanagement ที่ Ian นำมาพูดถึง พร้อมทั้งให้ตัวเองแสดงบทบาทอุปมาอุปไมยโดยวง Orchestra และบทเพลง Orchestral Suite No.3 in D Major ของ Bach มีดังนี้

Micro management

สิ่งที่เราพบในการเป็นผู้นำที่ล้มเหลวมีหลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างแรกที่ Ian เอามาให้เราดูคือผู้นำที่ชอบ Micro Manage หรือยุ่งกับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ หรือติดอยู่ที่ระดับ 5 Feet โดยไม่กลับมาในระดับ 50,000 Feet

ซึ่ง Ian ทำให้เห็นว่าในฐานะผู้กำกับวงเขาควรที่จะอยู่ข้างบนแล้วก็ดูแลเรื่องวิสัยทัศน์และต้องทำให้แน่ใจว่าบทเพลงได้ถูกบรรเลงออกมาอย่างที่ควรจะเป็นหรือเปล่า แต่ในเมื่อผู้กำกับวงลงมากำกับรายละเอียดเองและยังไปบอกนักดนตรีแต่ละคนว่าจะต้องเล่นอย่างไร ไปชี้นิ้วกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดจนเกินไป นักดนตรีเองก็เริ่มรวน ทั้งที่ Ian เองก็บอกว่าเขาจะไปรู้เรื่องการเล่นไวโอลินได้อย่างไรขณะที่คนที่เล่นอยู่เป็นนักไวโอลินมือหนึ่งของสิงคโปร์ด้วยซ้ำ ลองนึกภาพดูถ้าผู้กำกับละทิ้งบทบาทตัวเองแล้วเข้าไปยุ่งวุ่นวาย ทำให้การทำงานเป็น Micro Manager บทเพลงที่เกิดขึ้นก็ไม่มีความไพเราะแต่อย่างใด

Donald Trump Leadership Style

รูปแบบผู้นำอีกแบบหนึ่งที่มักพบเป็นประจำคือ เมื่อหลายท่านได้รับบทบาทการเป็นผู้นำหรือเป็น CEO แล้วหลายท่านเริ่มสร้างพฤติกรรมที่แปลกประหลาดหรือต้องการความสนใจจากคนในองค์กร หรือไม่ก็ให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่ตนเองสนใจมากจนเกินไป เช่น บ้า Golf หรือไม่ก็ต้องการที่จะอยู่ใน Spotlight ตลอดเวลา สุดท้ายองค์กรก็ไปไม่รอดเพราะเพลงที่เล่นอยู่ก็ฟังไม่เข้าหู จุดสนใจของผู้ฟังไปอยู่ที่ผู้ควบคุมวง ซึ่งก็ไม่ได้สนใจอยู่ดีว่าคนฟังเพลงจะอยากฟังเพลงที่ CEO ต้องการจะเล่นหรือไม่ Ian สรุปให้ชื่อของการเป็นผู้นำแบบนี้ว่า เป็นผู้นำแบบ Donald Trump Style นั้นเอง

Absence of CEO

ถัดไปอีกรูปแบบหนึ่ง Ian นำเสนอว่าถ้าลองไม่มีผู้นำวงบ้างจะเป็นอย่างไร เพราะถ้านักดนตรีเก่งอยู่แล้วจะมีผู้นำวงไปทำไม ปรากฏว่าผลที่ออกมาคือ ไม่น่าแปลกใจที่นักดนตรีสามารถเล่นตามโน้ตที่กางไว้อยู่ข้างหน้าได้ แต่ขาดเรื่องความสวยงามของดนตรี ไม่รู้ว่าจะเล่นไปทำไมในเมื่อผู้ควบคุมไม่เห็น ไม่แนะนำ ไม่ทำหน้าที่เป็นโค้ช ไม่ทำให้นักดนตรีเก่งขึ้น อุปมาเหมือนกับเอาหุ่นยนต์มาเล่นตามโน้ตเพลงแต่ขาดสีสัน ขาดการมีส่วนร่วม

ดังนั้นบทบาทของผู้นำก็ยังสำคัญอยู่โดยการเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักดนตรี ชื่นชมนักดนตรีที่เล่นได้ดี โดยเรามักจะเห็นผู้นำวงมักจะปรบมือพร้อมทั้งขอให้นักดนตรีบางท่านหรือทั้งวงลุกขึ้นยืนขึ้นเพื่อรับเสียงปรบมือจากผู้ฟังนั้นเอง Ian ยังเสริมอีกว่าสำหรับบางองค์กรที่มุ่งเน้นในการสร้างศักยภาพของพนักงานในองค์กรอย่างสูงสุด ถึงแม้ว่าจะไม่มี CEO วงดนตรีก็ยังสามารถบรรเลงเพลงที่มีความไพเราะได้อย่างน้อยก็ในช่วงสั้นๆ

Replacement of CEO: ในองค์กรทั่วไป CEO และ HR เชื่อว่าถ้าเราวางระบบ Learning & Development ให้ดีแล้ว องค์กรสามารถที่จะสร้าง Talent รุ่นใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ Ian ทำให้เราดูก็คืออุปมาว่าตัวเองเป็น CEO พร้อมทั้งเริ่มบรรเลงเพลงสักพักแล้วก็หยุด พร้อมทั้งยื่นไม้ Baton ให้กับคนที่ Ian จับฉลากมาเป็นผู้โชคดี ซึ่งผู้โชคดีท่านนั้นได้ถูกอุปโลกน์ให้เป็น Successor ของ CEO และแน่นอนที่สุดผู้โชคดีได้แอบดู CEO คนก่อนมาเป็นวาทยากรของวงมาได้สักพักแล้ว เมื่อ Ian ยื่นไม้ Baton ให้ก็จำเป็นต้องสวมบท CEO เสียเอง สิ่งที่วาทยากรจำเป็นต้องเริ่มทำก่อนคือ ทำท่าเลียนแบบผู้นำวงคนก่อน แต่ดนตรีที่ออกมาช่างแตกต่างเละไม่สวยงาม ทั้งๆที่ CEO จำเป็นของเรา ได้ใส่ Acting อย่างเต็มที่ หันซ้าย หันขวาอย่างที่เคยเห็น แต่บทเพลงกลับขาดความสวยงามไม่ไพเราะ สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ความมั่นใจที่ขาดหายไป ทักษะการเล่นดนตรีที่ยังไม่มี รวมถึง Passion กับบทเพลงย่อมแตกต่างกัน

ซึ่ง Ian สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่าองค์กรมักจะมองพนักงานที่ถูกเลือกเข้ามาเป็น Talent โดยดูจากประสิทธิภาพในการทำงานในบทบาทปัจจุบัน หรือมองแค่ Performance ในตำแหน่งปัจจุบัน แต่องค์กรไม่ค่อยจะมีระบบในการประเมินศักยภาพหรือ Potential นั่นก็คือเมื่อองค์กรเชื่อในระบบ Learning & Development และมักที่จะทำแบบ One-size fit all มากกว่าเข้าใจถึงเรื่อง ศักยภาพ Passion ส่วนตัว รวมถึงความพร้อมที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำ เมื่อนั้นองค์กรจะมีปัญหาในเรื่องภาวะผู้นำ และเมื่อ CEO คนใหม่กลับเลือกที่จะเล่นเพลงตามผู้นำวงคนเดิม มากกว่าที่จะเริ่มเล่นเพลงที่ตนเชื่อและมี Passion กับมัน เมื่อนั้นบทเพลงก็จะขาดความไพเราะ คนฟังสามารถฟังออก ถึงแม้ว่านักดนตรีจะเป็นชุดเดิมกันก็ตาม

3. The Sound and Synthesis การบรรเลงและการสอดประสานของท่วงทำนอง

Improvisation

ในเรื่องของการบรรเลงเพลงนั้น Ian กล่าวไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า การนำพาองค์กรของ CEO ในปัจจุบันย่อมไม่สามารถที่จะล่วงรู้ไปหมดทุกอย่างเหมือนวงมีโน้ตดนตรีมากางตรงหน้า มีรายละเอียดว่าใครเล่นอะไร ตรงไหน และเมื่อไหร่ กล่าวคือ CEO ไม่สามารถที่จะหาโน้ตเพลงที่เขียนมากกว่าสามสี่ร้อยปีมาบรรเลงให้เหมือนเดิม หากแต่ว่าการบรรเลงเพลงในปัจจุบัน ต้องมีความยึดหยุ่นตามความต้องการที่เปลี่ยนไปของลูกค้า ผู้นำวงและนักดนตรีมีความพร้อมที่จะผสมผสานท่วงทำนองที่หลากหลาย มาสร้างเป็นการบรรเลงเพลงที่สวยงามและมีความแตกต่าง

เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจในปัจจุบันองค์กรจะต้องฟังว่าลูกค้าอยากฟังเพลงจังหวะอะไร ถ้าอยากจะเริ่มด้วยเพลง Classic ผสม Jazz แล้วจบลงด้วยการ Solo ของ Double Bass ก็ต้องทำให้ได้ เหมือนอย่าง Clip ที่เอามาฝากข้างล่าง

Orchestrate the Winning Team

เมื่อมาถึงบทเรียนสุดท้าย Ian บอกกับพวกเราว่า เราคงจะจบบทเรียนยังไม่ได้ถ้าพวกเราทั้งหมดยังไม่ได้ร่วมแสดงกับวง Metropolitan Festival Orchestra พร้อมทั้งขอให้พวกเราทั้งหมดเปิดโปรแกรมการแสดงที่ได้จัดเตรียมเอาไว้ ไปที่บทเพลง Song of Joy ที่ใช้ท่วงทำนองของ ‘Choral’ Sumphony No. 9 ที่เขียนโดย Beethoven โดย Ian ขอให้ผู้หญิงอยู่ทางด้านซ้ายมือของวาทยกรและผู้ชายที่สามารถร้องเพลงเสียงทุ้ม (Soprano) ให้อยู่ทางด้านขวามือ พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่ามีโน้ตอยู่สองตัวที่อยากให้พวกเราเน้นเสียง เมื่อพวกนักร้องจำเป็นได้ประจำที่และพร้อม (เท่าที่จะเป็นไปได้) Ian จึงได้เริ่มบรรเลงเพลง Song of Joy และมีพวกเราร้องตาม ปรากฏว่าพอฟังได้ถึงแม้ว่าในรอบแรกความมั่นใจยังไม่มา พวกเราส่วนมากกลัวที่จะร้องผิด และคงจะน่าอายที่ร้องผิดต่อหน้าผู้เข้าร่วมสัมนา และต่อหน้านักดนตรี แต่เมื่อจบรอบแรก Ian ขอให้พวกเราร้องอีกรอบเป็นรอบสุดท้าย ถึงตรงนี้พวกเรามีความมั่นใจกันมากขึ้นเพราะผ่านประสบการณ์จากรอบแรกมาเรียบร้อยแล้ว ผลลัพธ์ก็เป็นอย่างที่เราสามารถดูจาก Clip ข้างล่างได้นะครับ ถึงแม้ว่าจะไม่เพราะเหมือนอย่างมืออาชีพ แต่พวกเราทุกคนต่างก็พยายามอย่างเต็มที่ และเป็นจุดเริ่มที่ดีในการสร้างความเชื่อมโยงและความเป็นทีมระหว่างกัน ซึ่งเราเชื่อได้เลยว่าถ้าเรามีโอกาสได้ฝึกซ้อมรวมกันให้มากขึ้นบทเพลงจะต้องดีกว่านี้แน่นอน

สุดท้าย ต้องขอขอบคุณมากครับที่อ่านมาถึงตรงนี้ เป็นบทความที่ยาวมากบทความหนึ่งเท่าที่เคยเขียนมา แต่มีความรู้สึกประทับใจในการนำเสนอบทเรียนทางด้าน Leadership ของ Ian ด้วยการอุปมาอุปไมยผ่านบทเพลงที่บรรเลงโดยวง Metropolitan Festival Orchestra ซึ่งให้ข้อคิดที่ดีในเรื่องการพัฒนาผู้บริหารและการจัดการในองค์กร เพราะจะหา Professor ทางด้าน Leadership จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่สามารถเป็นทั้งวาทยากรวง Orchestra ได้ด้วยน่าจะน้อยเต็มที (เป็นไปได้ว่าอาจจะมีแค่ Ian คนเดียว) ถ้างั้นทาง INSEAD ก็คงจะต้องเก็บตัว Ian ให้ดีเลยครับไม่งั้นโดนแย่งตัวแน่นอน สุดท้ายผมขอขอบคุณทาง Thailand Listed Companies Association (TLCA) กับทาง INSEAD ที่เชิญไปในงาน INSEAD Future Ready Summit ที่ Singapore ตลอดสองวันนี้ได้เรียนรู้เนื้อหาดีๆ มากมาย พร้อมทั้งได้เห็นนวัตกรรมการเรียนรู้โดยเฉพาะในเรื่องที่ INSEAD ถนัดและเป็นที่ยอมรับ เช่น เรื่องภาวะผู้นำ เรื่องธุรกิจ รวมถึงเรื่องการใช้นวัตกรรมอย่าง Virtual Reality (VR) มาใช้ในการเรียนรู้สำหรับอนาคต ขอฝาก Clip ที่ทาง Ian และทางวง Metropolitan Festival Orchestra ได้ร่วมบรรเลงเพลงส่งท้ายการเรียนรู้ของพวกเรา และได้นำเสนอความสวยงามของบทเพลง Orchestra และโลกของการรวมวง Orchestra ที่โอกาสเหล่านี้หาได้ยากเต็มที

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมของทาง INSEAD สามารถดูจาก website: https://www.insead.edu/campuses/asia และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย

ณัฐวุฒิ กุลนิเทศ

INSEAD Asia Campus, Singapore

68 views0 comments
bottom of page