top of page
Writer's pictureDr.Nattavut Kulnides

Changing the Educational Paradigm!


Sir Ken Robinson ‘Children are natural learners & Changing Educational Paradigm’

ผมเชื่อว่าคนที่ทำงานในแวดวงการศึกษาไม่ว่าจะเป็น ครู อาจารย์ ผู้บริหารสถาบัน หรือวิทยากรให้กับองค์กรเอกชน ในช่วงนึงของชีวิตคงจะได้เจอผู้ที่จุดประกายและทำให้เราเห็นความสำคัญของการศึกษา ผมเองไม่ได้โชคดีที่วางแผนอาชีพของตนเองให้เป็นนักการศึกษา (Educator) ตั้งแต่ตอนต้น แต่ด้วยความที่ถูกปลูกฝังเรื่องคุณค่าของการศึกษาตั้งแต่เด็กทำให้สุดท้ายแล้วก็เวียนวนกลับมาสู่วงการการศึกษาในบทบาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของ อาจารย์ ผู้บริหารสถาบันการศึกษา นักธุรกิจที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพของบุคคล รวมถึงบทบาทพ่อที่ต้องเลี้ยงดูและให้การศึกษาให้กับลูกๆ

แต่เมื่อพูดถึงนักคิดและคนที่จุดประกายและสร้างความเข้าใจในเรื่องของความสำคัญของการศึกษา การมีความคิดริเริ่ม การตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบการศึกษา รวมถึงการมองผู้เรียนเป็นปัจเจกไม่ใช่เป็นกลุ่มคนที่ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับรูปแบบการศึกษารูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอย่างเฉพาะ ก็ต้องบอกว่านักคิดและนักการศึกษาอย่าง Sir Ken Robinson ถือว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางด้านความคิดในเรื่องนี้ของผมมากที่สุด

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 โลกก็ได้สูญเสียนักคิดและนักการศึกษาชั้นนำผู้ที่จุดประกายให้นักการศึกษาทั่วโลก ที่ให้กลับมาตั้งคำถามว่าระบบการเรียนรู้ที่ถูกออกแบบมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ยังสามารถนำมาใช้เพื่อเตรียมความพร้อมให้กลับนักเรียนรุ่นใหม่ในอนาคตได้อีกหรือไม่ เมื่อได้ยินสิ่งที่ Sir Ken Robinson ได้พูดใน Ted Talk แต่เหัวข้อรื่อง ‘Do schools kill creativity?’ และ ‘How to escape education’s death valley?’ ซึ่งตอนนี้เป็น 1 ใน 10 Ted Talk ที่มีคนดูมากที่สุดในโลกเลยที่เดียว ในวันที่ผมเขียนบทความนี้ก็มีคนดูเกือบ 20 ล้านคนเข้าไปแล้ว

ผมรู้สึกทึ่งในความสามารถในการเป็นนักพูดที่ที่มีความสามารถมาก คือพูดได้อย่างสนุกสนานน่าสนใจและสามารถนำเสนอข้อความได้โดนใจ (คือเข้าไปในใจ) ผู้ฟัง ถือว่าเป็นรูปแบบการนำเสนอที่ดีที่สุดรูปแบบหนึ่งเลยทีเดียว โดย Sir Ken Robinson ได้เริ่มกับผู้ฟังในวันนั้นก็คือ

I want to make you a bet, and I am confident that I will win the bet.

If you have got two children or more, I bet you that...they are completely different from each other.

But yet, they might end up with the education that focuses on conformity, not diversity.

Yesterday I was clever, so I wanted to change the world. Today I am wise, so I am changing myself.

ผมเองจำได้ว่าเคยเดินเข้าไปขอองค์กรการกุศลที่มีพันธกิจหลักในการผลิตคุณครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง ว่าขอให้ผมได้ทำ Workshop กับคุณครูเหล่านี้นิดนึงได้ไหม เพราะผมเชื่อว่าก่อนที่คุณครูจะไปเปลี่ยนแปลงเด็กๆ คุณครูต้องเข้าใจในเรื่องบุคลิกลักษณะของตัวเอง (Personality) รวมถึงความพิเศษในตนเอง (Diversity) เพราะผมเชื่อว่าเมื่อคุณครูเข้าใจในสิ่งเหล่านี้แล้วคุณครูจะสามารถถ่ายทอดบทเรียนให้ตรงกับเด็กนักเรียนแต่ละคนโดยที่ไม่มองว่าเด็กแต่ละคนมีรูปแบบการเรียนรู้แบบตายตัวและมีรูปแบบเรียนรู้เหมือนๆกัน เด็กต่างคนถูกสร้างมาให้มีความแตกต่างและแต่ละคนก็มีความสวยงามในแบบฉบับของเขาเอง ซึ่งผมโชคดีที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับคุณครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงมา 3-4 รุ่นแล้วและทุกครั้งก่อนที่เราจะเริ่มทำ Workshop กันผมมักที่จะขึ้นสไลด์คำพูดของ Sir Ken Robinson ข้างล่าง

Many highly talented, brilliant, creative people think they’re not because the thing they were good at, wasn’t valued at school.

เพื่อให้การเตือนให้คุณครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ถามตัวเองว่าเรามาทำงานจุดนี้เพื่ออะไร และเราจะสามารถบรรลุถึงเป้าหมายที่เราวางไว้ด้วยกันได้อย่างไร และเราจะสอนเด็กๆอย่างไรโดยเข้าใจถึงความพิเศษเฉพาะตนของเขา

แต่ในขณะที่โรงเรียนส่วนมากสอนอย่างเป็นระบบเหมือนโรงงานอุตสาหกรรมโดยแบ่งเด็กตามอายุซึ่งคล้ายๆการแบ่งสินค้าตามวันผลิตหรือวันหมดอายุ โรงเรียนไม่ได้แบ่งเด็กตามความแตกต่างและความสามารถในการเรียนรู้ แต่ระบบการศึกษามักที่จะเร่งผลิตบุคลากรเพื่อมาสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ กลับเอาหลักการเรื่องของประสิทธิภาพและผลผลิตมาตัดสินขบวนการเรียนรู้ของเด็กๆทำให้เด็กหลายคนถูกประเมินก่อนเวลาอันเหมาะสมว่ามีศักยภาพพอที่จะเรียนรู้หรือไม่ ถ้าไม่ได้โชว์ศักยภาพเพียงพอก็อาจจะไม่ได้รับโอกาสในการเรียน เพราะว่าเรียนไปก็คงเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองไม่ได้อยู่ดีเป็นการสิ้นเปลืองเวลาและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด

ในขณะที่บทเรียนแรกๆของเด็กเล็กๆ จะเป็นการเรียนรู้โดยใช้ร่างกายผ่านการเคลื่อนไหว ศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ การเต้นรำ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ศาสตร์ด้านอื่น แต่สิ่งที่ Sir Ken Robinson พูดได้น่าสนใจก็คือยิ่งเรียนสูงขึ้นสูงขึ้นการศึกษาจะให้น้ำหนักตั้งแต่เอวขึ้นไปและพอถึงส่วนของสมองแล้วก็มักที่จะให้น้ำหนักแค่สมองซีกซ้ายที่ใช้ในเรื่องของตรรกะและการคิดคำนวณและไม่ได้ให้ความสำคัญในการเรียนรู้ในเรื่องของสมองซีกขวาซึ่งรวมถึงเรื่อง ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ Sir Ken Robinson บอกว่าพวกเราต้องปรับเปลี่ยนมุมมองของระบบการศึกษา (Changing Paradigm) และจะต้องทำให้มั่นใจว่าเรายังสร้างระบบที่ดีที่ให้โอกาสกับความคิดสร้างสสรค์ เพราะขณะที่พวกเรากำลังร่วงโรย เด็กรุ่นใหม่จะกลายเป็นอนาคตของพวกเรานั้นเอง

ระบบการศึกษาที่ดีต้องคำนึงถึง

Sir Ken Robinson บอกเราว่าสิ่งที่ระบบการศึกษาต้องให้ความสำคัญมีอยู่ 3 เรื่อง

  1. เรื่องความแตกต่างของผู้เรียน (Diverse)

  2. เรื่องการสร้างองค์ความรู้ด้วยกันหรือ Dynamic Interaction และ Co-Create

  3. สิ่งสุดท้ายเป็นสิ่งที่ Sir Ken Robinson เน้นว่าทุกคนสามารถมีความแตกต่างเป็นแบบฉบับของตัวเองการศึกษาไม่ควรที่จะสร้างนักเรียนให้เป็นแค่รูปแบบเดียว แต่การศึกษาควรที่จะเปิดโอกาสให้มีความคิดสร้างสรรค์และอยากให้มองว่าความสนใจใคร่รู้เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความสำเร็จ (Curiosity is an engine for achievement)

สิ่งที่น่ากลัวของโรงเรียนก็คือเราให้น้ำหนักในเรื่องของการสอน (Teaching) และการทดสอบ (Testing) มากจนเกินไปจนมองข้ามการเรียนรู้ที่แท้จริง (Learning) สุดท้ายคำถามที่สำคัญก็คือหน้าที่ของครูคืออะไรกันแน่ ในขนาดที่เราเห็นครูพยายามที่จะเร่งให้ความรู้หรือเร่งให้นักเรียน Copy and Paste ความรู้ของคุณครูไปเป็นของนักเรียน แต่ Sir Ken Robinson กลับมองว่าหน้าที่หลักของคุณครูไม่ใช่แค่สอน แต่เป็นการสนับสนุน (Facilitate) ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เพราะว่าถ้าเกิดกระบวนการเรียนรู้แล้วจะสามารถเกิดเป็นวัฒนธรรมในการเรียนรู้ และสิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะติดตัวเด็กไปในอนาคต

ปีกัสโซ่บอกไว้ All Children born artists ความคิดสร้างสรรค์มีความสำคัญอย่างไร เพราะว่ากระบวนการคิดสร้างสรรค์เป็นการสร้างความคิดต้นทางหรือ Original idea ซึ่งเป็นการผสมผสานกระบวนการการเรียนรู้และความคิดของปัจเจกแต่ละคนที่แท้จริง ความคิดสร้างสรรค์หรือความคิดดั้งเดิมของเรา Original Idea เป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนโลกไปสู่อนาคต คำพูดเล่านี้ทำให้ผมนึกถึงตอนที่เรียนปริญญาเอกที่อังกฤษ โดยคำถามหนึ่งที่มาในช่วงของการสอบวิทยานิพนธ์ที่อาจารย์ที่ปรึกษาได้ถามก็คือ ‘อะไรที่เป็น Original Idea ที่ผมได้จากการทำวิทยานิพนธ์ที่ใช้เวลาเกือบ 4 ปี’ ซึ่งทำให้เข้าใจว่าในฐานะของนักวิชาการและนักการศึกษาการสอนเป็นหนึ่งในกระบวนการเท่านั้นแต่สิ่งสำคัญมากไปกว่านั้นคือการสอนที่ดีต้องสามารถสร้าง Original Idea ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนให้ได้ ไม่งั้นต่อให้มีการสอนและการสอบเท่าไรก็คงไม่เป็นผลเพราะไม่มีการเรียน (Learning) ที่แท้จริงนั้นเอง

แต่ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้มาง่ายๆ ยิ่งเมื่อเราเติบโตขึ้นเราจะใช้ความคิดสร้างสรรค์น้อยลงและมองหาคำตอบที่ถูกมากขึ้น เรากำลังสร้างนักเรียนรุ่นใหม่ให้มองหาเฉลยคำตอบท้ายเล่มโดยไม่ได้ให้นำ้หนักในเรื่องของการลองผิด ลองถูก รวมถึงการเรียนรู้ เมื่อเจ้าลูกชายของผมได้ของขวัญวันเกิดเป็น Lego สองกล่อง สิ่งที่ พ่อแม่คาดหวังก็คือ ลูกน่าจะเปิดที่ละกล่อง ต่อ Lego ตามคู่มือให้เสร็จ วางไว้ในตู้โชว์ แล้วไปเปิดอีกกล่องมาเล่น แต่สิ่งที่ผมเห็นจากเจ้าลูกชายก็คือ เปิดทั้งสองกล่องแล้วเอา Lego มาผสมกัน แล้วต่อเป็นตัวอะไรก็ได้ตามจินตนาการของเขา หลังจากสิ้นเสียงการโวยวายของแม่ที่รู้สึกเสียดาย Lego ที่เพิ่งได้มาใหม่ๆ ผมกลับนึกถึงคำพูดที่ Sir Ken Robinson ที่กล่าวไว้ว่า

If you're not prepared to be wrong, you'll never come up with anything original.

How to avoid Educational Death Valley Paradigm?

Sir Ken Robinson เล่าให้เราฟังว่า จุดที่ร้อนที่สุดและแห้งที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกามีชื่อเรียกว่า Death Valley ทุกคนเชื่อว่าไม่มีต้นไม้และดอกไม้ชนิดใดที่สามารถเจริญเติบโตได้เพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้อ แต่ในช่วงหน้าหนาวของปี 2004 กลับเกิดปรากฏการณ์ประหลาดนั้นก็คือ เกิดมีฝนตกลงมาในบริเวณดังกล่าว สิ่งที่เกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิในปีถัดไปก็คือ Death Valley มีดอกไม้ขึ้นปกคลุมทั่วบริเวณ

เปรียบได้กับการเรียนรู้ของเด็กๆถ้ามันมีเงื่อนไขที่เหมาะสม เด็กทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้ได้ ดังนั้นบทบาทที่สำคัญของผู้นำการศึกษาก็คือไม่ใช่เป็นการทำเรื่องควบคุมและสั่งการ (Command And Control) แต่เป็นการทำเรื่องการควบคุมสภาพแวดล้อม (Climate Control) เพื่อที่จะสร้างภาวะแวดล้อมของความเป็นไปได้ (Climate of Possibilities)

สุดท้าย Sir Ken Robinson อ้างคำพูดของ Benjamin Franklin ว่าในโลกนี้มีบุคคลอยู่สามประเภทด้วยกันคือ

  1. เป็นคนที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ Those who are immovable. People who don’t get it or don’t want to do anything about it.

  2. เป็นคนที่สามารถเปลี่ยนได้ There who are movable. People who see the need for change and are prepared to listen to it.

  3. เป็นคนที่กล้าที่จะเปลี่ยน Those who move. People who make things happen.

ถ้าเรามีคนประเภทที่ 3 มากพอเราก็จะเกิดการเคลื่อนไหวหรือ Movement และถ้าเรามีการ Movement ที่มากเพียงพอเราจะเกิดการปฏิวัติหรือ Revolution และนั่นคือสิ่งที่เราต้องต้องการในการเปลี่ยนรูปแบบความคิด (Paradigm) ของการศึกษา และนั่นคือสิ่งที่ Sir Ken Robinson ได้ฝากความคิดนี้ให้กับเราทุกคนและใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อสร้างการปฏิวัติและเปลี่ยน Educational Paradigm ถึงแม้ว่า อาจจะยังไม่ได้เห็นผลสำเร็จในช่วงเวลาที่เขายังมีชีวิต แต่เชื่อได้เลยว่า Sir Ken Robinson ได้ผลิตเม็ดพันธุ์ให้กับนักการศึกษาและอนาคตนักการศึกษาที่กำลังจะเติบโตมาเพื่อสร้างนักการศึกษารุนใหม่ที่ยังไม่ยอมแพ้และยังหวังว่าเราสามารถที่จะสร้างการปฏิวัติการศึกษาให้เกิดขึ้นจริงในรุ่นของเรา

Rest in Peace. You truly inspire the next generation of educators.

ดร. ณัฐวุฒิ กุลนิเทศ

CEO ADGES

Ted Talk ที่ Sir Ken Robinson ได้พูดไว้

Do schools kill creativity? | Sir Ken Robinson

How to escape education's death valley | Sir Ken Robinson

85 views0 comments
bottom of page