แผนของ GM ในการพิจารณานโยบายการกลับเข้าทำงาน ที่มีความคลุมเครือ กำกวม ไม่ชัดเจน แต่ก็หลักแหลม ด้วย ‘สองคำ’ เท่านั้น
หากผู้นำหรือองค์กรต้องการมีนโยบายการกลับเข้าทำงานที่ครอบคลุมและชัดเจน ลองพิจารณาแนวคิดของ Mary Barra ผู้เป็น CEO แห่ง General Motors เพื่อเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจ
เพื่อนของผู้เขียนเองเป็นเจ้าของโรงงานผลิตหลายแห่ง ในปีที่ผ่านมาพนักงานหลายคนจาก 3,000 คนของเขาต้องไปทำงานที่สถานที่ทำงานจริง แต่ก็มีจำนวนมากที่ทำงานที่บ้าน ปัจจุบันเขากำลังเผชิญปัญหาในการตัดสินใจว่าควรหรือไม่ที่จะพาพนักงานกลับมาสู่ “สำนักงาน” และจะทำได้อย่างไร
ผู้นำจะตัดสินใจอย่างไรว่าจะให้พนักงานทำงานที่ไหน และที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือ จะให้พนักงานที่จะมาร่วมงานในอนาคตทำงานที่ไหน นี่คือคำถามที่ยากสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่มีพนักงานเพียงไม่กี่คน
ลองจินตนาการว่าคุณกำลังบริหารบริษัทอย่าง General Motors และมีพนักงานมากกว่า 150,000 คน
ในขณะที่มีพนักงานฝ่ายผลิตราว 87,000 คนจำเป็นต้องไปทำงานที่โรงงาน การตัดสินใจเกี่ยวกับพนักงานที่ไม่ใช่ฝ่ายผลิตอีกราว 70,000 คน ก็ดูซับซ้อนมากพอสมควร หรือไม่อาจจะไม่ซับซ้อนเลยก็ได้
นโยบายการกลับเข้าทำงานของ Mary Barra ผู้เป็น CEO แห่ง General Motors มีเพียงแค่สองคำเท่านั้น คือ "Work Appropriately" หรือ "ทำงานอย่างเหมาะสม" นั่นเอง
อย่างที่ Barra เขียนไว้ใน LinkedIn ว่า
“สิ่งที่ได้เรียนรู้และความสำเร็จจากปีที่แล้วทำให้เรารู้จักวิธีจัดการกับการทำงานในอนาคตของ GM ซึ่งเรียกว่า “การทำงานอย่างเหมาะสม”
“นั่นหมายความว่าถ้างานเอื้อให้เกิดผลดี พนักงานจะมีอิสระในการทำงานในสถานที่ที่ส่งผลดีที่สุดต่อการทำงานตามเป้าหมาย แนวความคิดในวิธีการนี้คือ พนักงานสามารถตัดสินใจในสิ่งสำคัญได้เองโดยไม่ต้องมีการชี้นำมากเกินไป แนวความคิดนี้ไม่ต่างจากกฎการแต่งกายของเรา ซึ่งก็คือ “การแต่งกายอย่างเหมาะสม” นั่นเอง
GM ได้ทำแบบสำรวจจำนวนมากว่าด้วยเรื่อง "พนักงานอยากทำงานอย่างไรและที่ไหนในอนาคต" ซึ่งคำตอบก็เป็นไปตามความคาดหมาย นั่นคือ มีความหลากหลายมาก
บางคนต้องการทำงานที่บ้านอย่างถาวร บางคนต้องการกลับไปทำงานที่สำนักงาน บางคนต้องการทำงานทั้งสองที่สลับกัน ด้วยพนักงานที่แตกต่างกัน แผนกที่แตกต่างกัน ลักษณะงานและโครงสร้างของทีมที่แตกต่างกัน วิธีเดียวจึงใช้ไม่ได้กับทุกคน
"คุณสมบัติสำคัญของความเป็นผู้นำ คือรู้ว่าวิธีเดียวไม่ควรนำมาใช้กับทุกคน"
นั่นจึงเป็นเหตตุผลที่ Barra ตัดสินใจให้หัวหน้าแต่ละคนรับผิดชอบแผนกและพนักงานของตนเอง แต่ละคนมีหน้าที่และอำนาจในการหารือกับพนักงานเพื่อหาตารางงานที่เหมาะสม โดยไม่ต้องมีการชี้นำที่มากเกินไป
โยบายที่กำกวมนั้นมีแต่จะสร้างความวุ่นวาย
นโยบายที่ชัดเจนทำให้การเป็นผู้นำง่ายขึ้นและยุติธรรมกว่าตามทฤษฎี ถ้าเราทุกคนทำงานด้วยตารางงานแบบสลับกันมาที่สำนักงาน จะไม่มีใครบ่นเรื่องการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม แต่ถ้า Sarah ได้ทำงานที่บ้านสามวันต่อสัปดาห์ ในขณะที่ Marcy ไม่ได้โอกาสนั้น หัวหน้างานกับ Marcy จะต้องมีเรื่องคุยกันอีกยาวแน่นอน ซึ่งนั่นคือประเด็น
"ถ้าผู้นำอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลไม่ได้ว่าทำไมจึงตัดสินใจให้มีตารางงานที่แตกต่างกัน ให้บทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันและกับพนักงานที่แตกต่างกัน แสดงว่าผู้นำไม่ได้ไตร่ตรองการตัดสินใจนั้นให้ถี่ถ้วนก่อน และยังไม่ได้คิดถึงอนาคตอีกด้วย"
GM รับรู้ได้ว่านโยบายของบริษัทจะช่วยขยายศูนย์รวมพนักงานใหม่ที่มีความสามารถ (Talent Pool) โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการทำงานกับ GM ตราบใดที่ตารางการทำงานยืดหยุ่นได้ หรือในบางกรณีก็ไม่จำเป็นต้องเก็บกระเป๋าและย้ายเข้ามาที่สำนักงานของ GM เลย
Cyril George ผู้บริหารฝ่ายสรรหาพนักงานในระดับนานาชาติ (Global Talent Acquisition Director) กล่าวว่าความยืดหยุ่นนั้น “เปิดกว้างให้มีแหล่งรวมคนเก่งให้กับเรา” และสร้าง “ความอิสระที่แท้จริง” ในการจ้างงานคนเก่งเหล่านั้น
สามเดือนแรกของปี 2021 ประมาณ 20% จากตำแหน่งงานที่เปิด 3,000 ตำแหน่ง ล้วนเป็นการทำงานจากที่ไหนก็ได้
Barra ได้เขียนไว้ว่า
“เรารู้ว่าการทำงานในอนาคตไม่สามารถใช้วิธีเดียวกันกับทุกคนได้และค่านิยมและพฤติกรรมของเราจะช่วยนำทางเรา”
ผู้นำหรือองค์กรอื่นๆ ก็เช่นกัน
โดยเฉพาะถ้าค่านิยมของผู้นำหรือองค์กร คือ การสร้างสถานที่ทำงานที่ให้คุณค่ากับงานที่ทำได้สำเร็จลุล่วง และสำเร็จด้วยดี
ลองพิจารณาแนวคิดนี้ รวมถึงคำนึงถึงความต้องการและความจำเป็นของพนักงาน ก็จะช่วยให้ผู้นำตัดสินใจอย่างชาญฉลาดว่าจะกำหนดให้งานนั้นทำที่ไหน และแม้กระทั่งเวลาไหน แล้วทุกคนก็จะได้ในสิ่งที่ต้องการ
Source: www.Inc.com
Comments