top of page
Writer's pictureADGES

Seven Skills Managers Will Need In 2025



7 ทักษะที่ผู้นำต้องการในปี 2025


เป็นที่รู้กันดีว่าแนวทางการทำงานกำลังเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเรียนรู้การทำงานของเครื่องจักร (Machine Learning) และหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทในงานแต่ละประเภทมากขึ้น ความแตกต่างของทีมงานและโลกาภิวัฒน์ทำให้เกิดความท้าทายใหม่ๆ ในการทำงานร่วมกัน ในขณะเดียวกัน คนรุ่น Millennials เข้ามามีบทบาทในการบริหารมากขึ้น แม้แต่พื้นที่ทำงานก็ยังมีการเปลี่ยน แปลงตั้งแต่ปัจจุบันไปจนถึงปี 2025

“การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และ 50 % ของอาชีพในปัจจุบันอาจไม่มีอีกแล้วใน 10 ปีข้างหน้า ดังนั้นเรา จึงต้องปรับตัวและพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”

Liz Bentley ผู้ก่อตั้ง Liz Bentley Associates บริษัทที่ปรึกษาทางด้านการพัฒนาความเป็นผู้นำกล่าวต่อว่า

“ท่ามกลางความผันผวนนี้ ผู้นำเองก็ต้องการทักษะใหม่ๆ เช่นกัน โครงสร้างลำดับชั้นในอดีตที่ไม่มีการพัฒนา หรือเปลี่ยน แปลงใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป”

ดังนั้น หากคุณต้องการรักษาตำแหน่งงานเอาไว้ในอนาคต อย่าลืมให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทักษะ 7 อย่าง ดังต่อไปนี้


1. ทักษะการจัดการเทคโนโลยี (Technology Management Skills)


เทคโนโลยีกำลัง “เติบโตไปพร้อมกับเรา” และงานเกือบทุกประเภทจะได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี ปัจจุบันการเรียนรู้การทำงานของเครื่องจักร และหุ่นยนต์อาจยังไม่ได้เข้ามาแทนที่งานทุกอย่างก็จริง แต่เทคโนโลยีคือสิ่งที่อยู่คู่กับการทำงานตลอดเวลา ทำให้เกิดความท้าทาย ความขัดแย้ง และโอกาสใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างทักษะ บทบาทหน้าที่ในที่ทำงาน การจัดการข้อมูล ความเป็นส่วนตัว และอื่นๆ อีกมากมาย

"ผู้นำจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะการจัดการเทคโนโลยี เพื่อทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ให้มากพอที่จะติดตาม และแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้"

นอกจากนี้ ผู้นำยังต้องเรียนรู้ที่จะจัดการคนและเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างเหมาะสมด้วย



2. ทักษะการเป็นผู้นำระดับสูง (Out Centric Leadership Skills)


ผู้นำที่มีประสิทธิภาพต้องเห็นแก่ตัวน้อยลง แนวคิดที่ว่า “ฉันเป็นผู้นำและคุณต้องฟังฉัน” จะไม่ได้ผลในตลาดแรงงานที่ประกอบไปด้วยคนรุ่น Millennials เป็นหลัก ดังนั้น ผู้นำต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาคนในทีมและพนักงานรอบตัวให้พวกเขามีความกระตือรือร้น มีส่วนร่วม และเข้าใจคุณค่าของตัวเอง ผู้นำที่ดีต้องเรียนรู้ที่จะนำข้อมูลมาสร้างทีม เพื่อให้ทีมและพนักงานสามารถปรับตัวเข้ากับการทำงานในยุคใหม่ได้



3. การประเมินทักษะ Soft Skill (Soft-Skill Assessment)


ผู้นำหรือผู้จัดการที่มีประสิทธิภาพต้องมีความสามารถในการประเมินทักษะด้าน Soft Skill ของผู้สมัครงานและพนักงานพอๆ กับการประเมินทักษะเฉพาะด้านอื่นๆ เช่นกัน Rita Santelli ซึ่งเป็น CEO ของ Savvy ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม และหนึ่งในคณะอาจารย์ผู้สอนในด้านกลยุทธ์และนวัตกรรมความเป็นผู้นำ (Strategic and Innovative Leadership) มหาวิทยาลัย Georgetown University กล่าว

"ผู้นำต้องมองเห็นทักษะและความสามารถด้าน Soft Skills ของคนอื่น มีการติดตามและประเมินผลทักษะเหล่านั้น ทั้งของผู้สมัครงาน และพนักงานเพื่อให้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้"

พนักงานที่ดีที่สุดจะต้องมีทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เนื่องจากความก้าวหน้าของสถานที่ทำงานนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั่นเอง



4. สร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ (ROWE Focus)


องค์กรจะต้องนำแนวคิด Results-Only Work Environments (ROWEs) หรือ "สภาพแวดล้อมในการทำงานที่มุ่งเน้นผลลัพธ์" มาใช้มากขึ้น Jennifer Currence ประธานบริษัท OnCore Management Solutions ซึ่งให้บริการเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาทางด้าน Solutions ที่มีต่อผลลัพธ์ ได้กล่าวไว้ ซึ่งกลยุทธ์การบริหารทรัพยากรบุคคลนี้คิดค้นขึ้นโดย Jody Thompson และ Cali Ressler มีแนวคิดส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ความเป็นอิสระและความรับผิดชอบ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ

"ผู้นำที่มีประสิทธิภาพจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ให้ความสำคัญกับสถานที่และวิธีการทำงานของคนน้อยลง แต่จะวัดความสำเร็จจากผลลัพธ์มากขึ้น"

ผู้นำต้องคิดต่างออกไปในแง่ของทักษะที่จำเป็นเพื่อให้เหมาะสมกับผลลัพธ์ที่ต้องการ


เมื่อเราเปลี่ยนไปใช้แนวคิดการทำงานอย่างอิสระ 100% และให้พวกเขารับผิดชอบ 100 % ประสิทธิภาพการทำงานจะขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่พวกเขาทำได้ ไม่ใช่จากชั่วโมงการทำงาน


Currence กล่าวว่า เมื่อสถานที่ทำงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ผู้นำเองก็ต้องให้ความสำคัญกับทักษะการสื่อสารและการจัดการความสัมพันธ์มากขึ้นด้วย



5. การร่วมมือในการทำงานภายใต้ความกดดัน (Tension-Tolerant Collaboration)

“เมื่อทีมมีความแตกต่างกันมาก ผู้นำต้องเรียนรู้การสร้างวัฒนธรรมองค์กรเพื่อรองรับการทำงานในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป”

Santelli กล่าว “นอกจากนี้ทีมจะมีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย” Bentley กล่าวเสริม เพราะคนใน Gen-Z จะเข้ามาสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น ขณะที่คนยุค Baby Boomers จะเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านและเกษียณ ความเป็นโลกาภิวัฒน์จะขยายขอบเขตของทีมานมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของประชากรแต่ละยุคทำให้ผู้นำต้องเข้าใจความต่างทางวัฒนธรรมมากกว่าเดิม


บางครั้งผู้นำอาจสับสนระหว่างความเห็นพ้องกับความสามัคคีซึ่งอาจทำให้การทำงานช้าลงและประสิทธิภาพการทำงานลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ประชากร และความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่เข้ามากระทบการทำงาน

"ความสามารถในการจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ คือตัวบ่งชี้ว่าผู้นำคนนั้นอยู่ในระดับยอดเยี่ยมหรือปานกลาง"

เพราะการทำงานภายใต้ภาวะความกดดันอย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์จะนำไปสู่แนวคิดใหม่ ๆ และสามารถสร้างผลลัพธ์ได้อย่างรวเร็วสำหรับผู้บริโภคที่กำลังมองหาแนวทางแก้ปัญหา และนั่นคือทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้นำในอนาคต



6. ความโปร่งใส (Transparency)


หากต้องการยกระดับการทำงานของทีมและสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีขึ้น การยกระดับเรื่องความโปร่งใสและการสื่อสารเองก็เป็นทักษะที่ผู้นำต้องใส่ใจด้วยเช่นกัน

"ผู้นำที่ดีจำเป็นต้องทำให้เกิดความไว้วางใจในทีม เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความเชื่อมั่น และเป็นผลดีต่อองค์กรมากที่สุด"

สมาชิกในทีมที่มีความแตกต่างและหลากหลาย ก็ต้องการผู้นำที่พวกเขาเชื่อใจได้ถึงแม้ไม่ได้พบเจอกันก็ตาม และผู้นำต้องสามารถผลักดันให้เกิดความเชื่อใจซึ่งกันและกันนี้ สร้างสรรค์ให้เป็นวัฒนธรรมองค์กรเพื่อจะสามารถรักษาสมาชิกที่ดีของทีมด้วยเช่นกัน



7. ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)


Craig Dalziel ผู้จัดการอาวุโสจากบริษัท FRG Technology Consulting กล่าวว่า ความฉลาดทางอารมณ์เป็นทักษะที่ได้รับความสนใจในระยะเวลาที่ผ่านมา และจะมีความสำคัญมากขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า

"การมีความฉลาดทางอารมณ์สูงหมายถึงบุคคลมีความเข้าใจและรู้จักตนเอง รู้จักจุดแข็งและจุดอ่อนของตน รวมถึงสามารถขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานหรือที่ปรึกษาเพื่อนำจุดอ่อนที่รู้ไปปรับปรุงและพัฒนาตัวเองได้"

ผู้นำที่มี EQ สูงมักมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น ทำให้ผู้นำได้เห็นมุมมองที่แตกต่าง และสามารถประเมินสิ่งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมกับทีมได้ เพราะพวกเขาสามารถมองจากมุมมองอื่นๆ ด้วยความเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนรุ่น Millennials และ Gen-Z เข้ามาในตลาดแรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ การปรับตัวในด้านนี้จะช่วยให้สภาพแวดล้อมการทำงานในปัจจุบันดีขึ้น และยังส่งผลต่อการจัดการวัฒนธรรมองค์กรในอนาคตข้างหน้าด้วย



Source: www.fastcompany.com


195 views0 comments

Comments


bottom of page