เมื่อ COVID-19 ได้เปลี่ยนแปลงวงการการศึกษา - นี่คือ 5 นวัตกรรมที่ควรต้องมีไว้
การเปลี่ยนแปลง 5 อย่างในการศึกษาระดับสูงอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ COVID-19 นี้จะยังคงเป็นประโยชน์หลังสถานการณ์การระบาดของโรคคลี่คลาย รวมถึงการนำทรัพยากร Digital มาใช้อย่างกว้างขวางและมีวิธีการประเมินผลที่สร้างสรรค์มากขึ้น อีกทั้งการมองนักเรียนเป็นเสมือนหุ้นส่วน หรือ Partner ของอาจารย์ได้ โดยการทำให้พวกเขาเกิดความกระตือรือร้น และให้ข้อเสนอแนะผ่านช่องทาง Online
การสอนแบบ Online ยังช่วยให้อาจารย์สามารถปรับแต่งกิจกรรมให้เหมาะกับหัวข้อของตนเองได้มากขึ้น
COVID-19 กลายเป็นสถานการณ์ที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับมหาวิทยาลัยและนักเรียนนักศึกษา และถึงแม้ว่าจะมีการเปิดตัววัคซีน ทั้งฝ่ายครูผู้สอนและผู้เรียนต่างต้องมีการปรับตัวอย่างมากในการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตประจำวันและการทำงาน ขณะที่การเรียนการสอนก็เปลี่ยนไปเป็นรูปแบบที่ไม่คุ้นเคยท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งผู้สอนและผู้เรียนก็ได้กำหนดบทบาทใหม่ของตัวเองในการศึกษา ส่วนสิ่งที่กลายเป็นเรื่องยากก็คือเรื่องของความมุ่งมั่นและการคิดค้นวิทยาการใหม่ๆ
และนี่ก็คือการเปลี่ยนแปลง 5 อย่าง ที่เกิดขึ้นกับการศึกษาซึ่งจะยังคงมีประโยชน์ต่อไปในอนาคต แม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 จะดีขึ้นแล้วก็ตาม
1. เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ (Technology for Learning)
จากสถานการณ์ COVID-19 ทีผ่านมา ได้ทำเกิดศักยภาพอย่างมากมายในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการพัฒนาและสนับสนุนการเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งในสถานการณ์ปกติไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง
"เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นทำให้เราเห็นแล้วว่าพื้นที่บนโลก Online สามารถทำอะไรได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นช่วยเพิ่มในการมีส่วนร่วมกัน เสริมสร้างและเติมเต็มเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการเข้าถึง"
มีการใช้วิดีโอและสื่อการเรียนการสอนแบบสามารถโต้ตอบได้ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการเรียนรู้ อีกทั้งยังมีกระดานสนทนาหรือเว็บบอร์ดที่ช่วยให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนอกชั้นเรียนอีกด้วย
2. นิยามใหม่ของการมีส่วนร่วม (Redefining Engagement)
คำจำกัดความของ “การมีส่วนร่วม” นั้นแตกต่างกันไปตามบริบท แม้ว่าส่วนใหญ่จะหมายถึงการมีส่วนร่วมของนักเรียนในเส้นทางการเรียนรู้ของพวกเขาก็ตาม
ก่อนการระบาดของ COVID-19 การเข้าร่วมและการมีส่วนร่วมมีความหมายไม่ต่างกันนัก การมีส่วนร่วมของนักเรียนแต่ละคนวัดได้จากการที่พวกเขาเข้าร่วมการบรรยายในชั้นเรียนด้วยตัวเอง
"เมื่อการเรียนการสอนมาอยู่บนโลก Online เราจึงต้องนิยามคำว่าการมีส่วนร่วมกันใหม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการพูดคุยและโต้ตอบผ่านช่องทาง Online นั้น ทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมมากกว่าการเข้ามานั่งฟังบรรยายในห้องเรียน"
นอกจากนี้ ยังเห็นได้ชัดเจนว่าผู้เรียนสามารถแสดงความกระตือรือร้น และแสดงความคิดเห็นมากกว่าเมื่อต้องเรียน Online ด้วย
3. การประเมินอย่างสร้างสรรค์ (Creative Assessment)
การประเมินขั้นสุดท้ายอย่างเช่นการสอบข้อเขียนนั้นเป็นไปได้ยากมากระหว่างการแพร่ระบาดของโรค และยังไม่เป็นผลดีต่อความเป็นอยู่หรือสุขภาวะ (Wellbeing) ของนักเรียนเพราะไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงทักษะสำคัญๆ ของพวกเขาได้ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ และเป็นไปได้น้อยมากที่จะแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของนักศึกษาเมื่อต้องเข้าสู่โลกของความเป็นจริงหลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแล้ว อีกทั้งการสอบแบบดั้งเดิมยังให้ความสำคัญกับการท่องจำมากกว่าการสำรวจและวิเคราะห์หัวข้อในการสอบ
"การสอบแบบ Open Book เช่น การจัดทำกรณีศึกษา การเขียนรายงานสรุป หรือการบันทึก Podcast เป็นเสมือนรางวัลให้แก่ความอยากรู้อยากเห็นของผู้เรียน และเหมาะแก่การตั้งคำถามทางวิชาการเพื่อให้ผู้เรียนตอบมากกว่า"
ดังนั้นการทดสอบหรือประเมินผลการเรียนด้วยวิธีการใหม่ๆ จึงน่าสนใจมากกว่าการสอบข้อเขียนแบบเดิมๆ
4. นักเรียนคือพันธมิตร (Students as Partners)
การเรียนการสอน Online นั้น นักเรียนต้องมีความมุ่งมั่นในการเรียนอย่างมาก ทำให้ทั้งผู้สอนและนักเรียนต้องให้ความร่วมมือกันเพื่อทำให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จ สถาบันหลายแห่งจึงมองนักเรียนเป็นเหมือนหุ้นส่วนหรือพันธมิตรมากขึ้น
"นักเรียนสามารถร่วมออกแบบและประเมินกิจกรรมการเรียนรู้ ช่วยกำหนดรูปแบบกิจกรรม Live Activities ด้วยการให้ข้อเสนอแนะต่างๆ"
ซึ่งทำให้การเรียนการสอน Online เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
5. การเปลี่ยนสูตรการในเรียนการสอน (Changing the Formula)
การบรรยายและให้การบ้านในรูปแบบให้ผู้เรียนทำแบบฝึกหัดนั้นอาจไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมสำหรับวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนเสมอไป การเปลี่ยนไปเรียนด้วยวิธี Online ที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหันก็เป็นเรื่องยากทั้งสำหรับผู้สอนและผู้เรียน
"แต่ในระหว่างการเตรียมแผนการสอนนั้น ผู้สอนก็สามารถออกแบบกิจกรรม และผสมผสานแนวทางการสอน Online เพื่อให้ครอบคลุมและเหมาะสมกับหัวข้อที่จะสอนได้มากขึ้น"
การบรรยายในชั้นเรียนอาจทดแทนด้วยการสอนแบบเพื่อนสอนเพื่อน (Peer Instruction) ให้นักเรียนสวมบทบาทเป็นผู้สอนและสอนเพื่อนของตนเอง หรืออาจใช้วิธีทัศนศึกษาเสมือนจริง (Visual Field Trips) ในสถานที่จริงผ่านโลกออนไลน์ก็ได้
COVID-19 เป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษา แต่มหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ก็สามารถเรียนรู้จากความท้าทายนี้เพื่อนำไปปรับปรุงการเรียนการสอนสำหรับอนาคตต่อไปได้
Source: www.weforum.org
Comments