top of page
Writer's pictureADGES

Mindfulness for Children

การมีสติสำหรับเด็ก


เด็กทุกวัยสามารถได้รับประโยชน์จากการมีสติ ซึ่งเป็นการฝึกให้มองปัจจุบันด้วยทัศนคติที่อ่อนโยนและยอมรับ นอกจากนี้การมีสติยังสามารถช่วยพ่อแม่และผู้ดูแลได้เช่นกัน โดยการเสริมสร้างความสุขและช่วยบำบัดความเครียด ในบทความนี้ เราจะนำเสนอเคล็ดลับพื้นฐานสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ทุกวัย รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เสริมสร้างความเห็นอกเห็นใจ ความเอาใจใส่ ความใฝ่รู้ และความเข้าใจในตัวผู้อื่น และอย่าลืมว่าการมีสติก็สนุกได้เช่นกัน


สติคืออะไร และทำไมเด็กจึงจำเป็นต้องมีสติ


ในช่วงเวลาแรก ๆ ของเรา สติจะช่วยคลายกังวลและเพิ่มความสุขได้


สติช่วยอย่างไร


เราทุกคนล้วนมีความทุกข์มาตั้งแต่เกิด เด็กจะทารกหิวและเหนื่อย เด็กวัยหัดเดินก็มีปัญหากับภาษาและการควบคุมตัวเอง เมื่อเด็กเติบโตเป็นวัยรุ่น ชีวิตของพวกเขาจะเริ่มซับซ้อนขึ้น เริ่มสร้างความสัมพันธ์ เริ่มใช้ชีวิตในโรงเรียน เริ่มลองความเป็นอิสระ รวมถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วเป็นสถานการณ์ที่สร้างความเครียดให้เด็กทุกคนได้


ในทุกระยะของการพัฒนาสตินั้น

สติสามารถเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการลดความกังวลและเสริมสร้างความสุข

สติเป็นเทคนิคเรียบง่ายที่เน้นการให้ความสำคัญกับปัจจุบันด้วยวิธีที่ยอมรับและไม่ตัดสิน เป็นวิธีที่ถือปฏิบัติกันโดยทั่วไปในหลายศตวรรษที่ผ่านมา และเป็นสิ่งที่ถูกสอนให้ผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ ตลอดจนนักกีฬา และในปัจจุบันมีการสอนให้นักเรียนทั้งที่โรงเรียนและที่บ้านมากยิ่งขึ้น


นิสัยในวัยเด็ก


เด็กจะได้รับประโยชน์จากการฝึกสติแตกต่างกันไป นิสัยที่เกิดในวัยเด็กเป็นสิ่งที่สร้างพฤติกรรมในวัยผู้ใหญ่ และสติก็ทำให้เรามีโอกาสปลูกฝังนิสัยรักสงบ จิตใจดี และยอมรับสิ่งต่าง ๆ Annaka Harris นักเขียนและเป็นผู้สอนการฝึกสติสำหรับเด็กกล่าวว่า

“สำหรับเด็กๆ การมีสติสามารถคลายความเครียดได้เมื่อพวกเขาพบเจอกับอุปสรรคในชีวิต” และยังทำให้พวกเขามองเห็นความสวยงามของการอยู่กับปัจจุบัน”

ส่วนหนึ่งของเหตุผลที่การมีสติมีประสิทธิภาพมากสำหรับเด็กนั้น ด้วยการอธิบายได้ว่าสมองมีพัฒนาการอย่างไร ในขณะที่สมองของเราพัฒนาไปเรื่อย ๆ ตลอดชีวิต ความเชื่อมโยงภายในสมองส่วนหน้าจะถูกสร้างด้วยอัตราที่รวดเร็วที่สุดในวัยเด็ก การมีสติจะเสริมสร้างทักษะต่างๆ ในการควบคุมสมองส่วนหน้า เช่น การควบคุมความสนใจและกระบวนการคิด ดังนั้น สติจึงมีผลต่อการพัฒนาทักษะต่าง ๆ รวมถึงการควบคุมตนเอง (self-regulation) การตัดสินใจ และความอดทนในวัยเด็ก



การหล่อหลอมรูปแบบของสติ


สติไม่ใช่สิ่งที่มาจากภายนอก สำหรับพ่อแม่และผู้ดูแล วิธีที่ดีที่สุดที่จะสอนเด็กให้มีสติคือการเรียนรู้ด้วยตัวเอง Susan Kaiser Greenland ครูสอนการเรียนรู้สติซึ่งทำงานกับเด็กได้กล่าวไว้ว่า

“การเรียนรู้สติไม่เหมือนกับการเรียนเปียโนที่คุณสามารถให้คนอื่นมาสอนให้ลูกของคุณได้ คุณต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง”

แน่นอนว่าการเป็นพ่อแม่นั้นเป็นหน้าที่ที่เครียดพอตัวอยู่แล้ว สำหรับพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงลูก การฝึกสติและเจริญสติเพียงไม่กี่นาทีต่อวันก็สามารถสร้างคุณประโยชน์มากมาย และยังทำให้ผู้ดูแลเด็กสามารถแบ่งปันทักษะการมีความสุขและยอมรับสิ่งต่าง ๆ ให้กับเด็กรุ่นใหม่ และในขณะเดียวกันพวกเขาก็ยังสามารถดูแลตัวเองได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย Sumi Loundon Kim อนุศาสนาจารย์ชาวพุธที่มหาวิทยาลัย Duke ผู้ทำงานกับวัยรุ่นได้กล่าวว่า

“เพื่อให้เล่นเกมชีวิตได้อย่างมีสติ คุณต้องฝึกฝนสติ”

วัยทารก


แม้แต่เด็กที่แบเบาะที่สุดก็สามารถสัมผัสได้ถึงสิ่งรบกวน ดังนั้นจึงต้องฝึกให้อยู่กับปัจจุบัน


จากจุดเริ่มต้น


ในช่วงปีแรกของชีวิต วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการฝึกสติให้กับเด็กคือการปลูกฝัง เด็กต้องการความใส่ใจและความรักจากเรา และสามารถรับรู้ได้เมื่อพ่อแม่หรือผู้ดูแลมีสิ่งรบกวนใจ ดังนั้นเมื่อคุณอยู่กับทารก ให้พยายามจดจ่อและมีสมาธิอยู่กับปัจจุบันไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม


ในเชิงปฏิบัติ วิธีนี้เป็นสิ่งที่เรียบง่ายเช่นการอุ้มทารกเงียบ ๆ และมองตาเขาด้วยความอ่อนโยนและรักใคร่ Ms. Kim กล่าวว่า

“เมื่อทารกมองพ่อแม่ พ่อแม่สามารถมองลูกตอบ พฤติกรรมสะท้อนกลับเป็นวิธีที่ดีในการสอนทารกให้รู้จักสติ”

สมาร์ทโฟนเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยม แต่ก็เป็นสิ่งรบกวนได้เช่นกัน ครูสอนการฝึกสติจะให้พ่อแม่และผู้ดูแลเก็บโทรศัพท์และมีปฏิสัมพันธ์กับทารก แม้จะเป็นเพียงการมองตาและยิ้ม ซึ่ง Ms. Kim กล่าวว่า

“แทนที่จะอ่านอีเมล วางโทรศัพท์ลง ให้อยู่กับปัจจุบันและใส่ใจให้มากที่สุด”

คุณแม่และผู้ดูแลคนอื่น ๆ มีโอกาสฝึกหลายครั้งภายในหนึ่งวัน เช่นเวลาป้อนอาหาร Jessica Morey ผู้ก่อตั้ง Inward Bound Mindfulness Education องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ฝึกสติให้วัยรุ่นกล่าวว่า

“เมื่อคุณอยู่กับเด็ก ความสนใจของคุณอยู่ที่ไหน มันเริ่มตั้งแต่การให้นมลูกด้วยซ้ำไป”


ใจเย็นเข้าไว้


เมื่อทารกเริ่มงอแง พยายามอย่าให้สิ่งนั้นทำให้คุณหงุดหงิดไปด้วย ความหงุดหงิดนี้จะสร้างวงจรที่ไม่เป็นประโยชน์ซึ่งทั้งพ่อแม่และเด็กต่างก็มอบความทุกข์ของตนให้กันและกัน Ms. Greenland กล่าวไว้ว่า

“พ่อแม่และเด็กต่างก็กำหนดและควบคุมกันและกัน เมื่อเด็กเริ่มร้องไห้เสียงดัง ถ้าพ่อแม่หงุดหงิดไปด้วย ทั้งสองจะมีอารมณ์ไปในทางเดียวกัน”

เมื่อคุณรู้สึกหงุดหงิดใจ


สำหรับพ่อแม่หรือผู้ดูแลที่รู้สึกอารมณ์เสียหรือไม่อยู่กับปัจจุบัน วิธีฝึกสติที่เป็นที่นิยมที่ชื่อว่า S.T.O.P. สามารถช่วยได้

  • Stop: หยุดพักสักครู่ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรอยู่

  • Take a breath: หายใจเข้าลึก ๆ สัมผัสถึงลมหายใจเข้าออกของตนเอง ซึ่งจะนำคุณกลับมาสู่ปัจจุบัน

  • Observe: สังเกตุการณ์รับรู้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในใจคุณหรือไม่ แค่รับรู้ถึงมัน

  • Proceed: เดินหน้าต่อ ตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน และเดินหน้าต่อในสิ่งที่คุณทำอยู่



การเคลื่อนไหว


การมีสตินั้นไม่ซับซ้อน แต่ไม่ได้ง่ายเสมอไป โดยเฉพาะเมื่อคุณอยู่กับทารก อาจมีหลายครั้งที่ผู้ดูแลเกิดความเบื่อหน่าย ไม่ว่าจะเป็นต้องให้นม เปลี่ยนผ้าอ้อม ป้อนอาหาร หากคุณพบว่าตัวเองใจลอย วิธีหนึ่งที่พ่อแม่สามารถฝึกสติได้อีกครั้งคือการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นโยคะเบา ๆ เมื่อไม่ได้อุ้มลูก หรือพยายามเดินจงกรม Ms. Greenland กล่าวว่า

“การฝึกสติมากเกินไปมักจะเน้นให้ร่างกายอยู่นิ่ง ๆ หากรู้สึกหงุดหงิดหรืออารมณ์เสีย คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเริ่มฝึกสติจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้เคลื่อนไหวร่างกาย”

รู้สึกขอบคุณสำหรับทุกย่างก้าว


สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกวัยทารก การปลูกฝังความรู้สึกขอบคุณก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เช่นเดียวกับการฝึกแบบอื่น ๆ ในบทความนี้ การฝึกนี้ถูกดัดแปลงมาจาก “Mindful Games” (เกมแห่งสติ) ซึ่งเป็นเกมไพ่ที่สร้างโดย Ms. Greenland และ Ms. Harris


อย่างแรก ให้หาพื้นที่ในบ้านที่คุณสามารถเดินได้อย่างปลอดภัยและสบายใจขณะอุ้มลูกไปด้วย หากคุณรู้สึกไม่มีความสุขนักก็ไม่เป็นไร จุดมุ่งหมายของวิธีนี้ไม่ใช่การรู้สึกดีขึ้นมาอย่างมหัศจรรย์ แต่เป็นการสัมผัสความรู้สึกขณะก้าวเดินและให้ความสนใจกับสัมผัสที่ได้อุ้มลูกและเดิน และให้มุ่งความสนใจไปที่ความรู้สึกขอบคุณ


อุ้มลูกอย่างทะนุถนอมและก้มมองลูกก่อนจะเริ่มเดินอย่างช้า ๆ และตั้งใจ สัมผัสความรู้สึกในทุกก้าวที่คุณเดิน คุณรู้สึกถึงส้นเท้า หน้าเท้า และนิ้วเท้าของคุณหรือเปล่า พ่อแม่มักจะมีความรู้สึกหลากหลายเมื่ออุ้มลูก ไม่ว่าจะเป็นความรักลึกซึ้ง ความรู้สึกท่วมท้น ไปจนถึงความกังวล ถ้าการจดจ่อกับการเคลื่อนไหวร่างกายทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจด้วยเหตุผลบางประการ คุณสามารถเปลี่ยนไปใช้วิธีฟังเสียงในขณะที่เดินแทน การฟังเสียงดนตรีออร์เคสตราในขณะที่เดินช้า ๆ หรือเสียงของเสื้อผ้าขณะที่คุณเคลื่อนไหว เสียงนกร้อง หรือเสียงกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่บ้านก็สามารถเป็นช่วงผ่อนคลายจิตใจจากการดูแลลูกอย่างไม่หยุดหย่อนได้


จากนั้น ทุกครั้งที่คุณก้าวเดิน ให้คิดว่าคุณรู้สึกขอบคุณแค่ไหนที่ได้มีลูก คิดถึงความรู้สึกอบอุ่นตอนที่คุณโอบกอดเขา ทบทวนประโยคแสดงความขอบคุณซ้ำ ๆ ในใจ เช่น แม่ตื้นตันใจเหลือเกินที่ได้กอดลูก” หรือ “แม่ขอบคุณเหลือเกินสำหรับรอยยิ้มของลูกในตอนนี้”


ต่อไปให้ลองอวยพรตัวเองและลูกในแต่ละก้าวเดิน การดูแลเด็กทารกเป็นงานที่เหนื่อย พลังงานทั้งหมดของคุณทั้งกลางวันและกลางคืนถูกทุ่มเทให้อีกชีวิตหนึ่ง ช่วงเวลาที่คุณได้ใจดีกับตัวเองบ้างจึงสำคัญเป็นพิเศษ ทุกครั้งที่คุณเดินแต่ละก้าว ลองอวยพรตัวเองกับลูกของคุณ (คุณสามารถใช้คำอวยพรเหล่านี้หรือคิดคำอวยพรของคุณเองก็ได้)

  • ขอให้เรามีความสุข

  • ขอให้เรามีสุขภาพดีและแข็งแรง

  • ขอให้เราหลับฝันดี

  • ขอให้ความเหน็ดเหนื่อยที่เราพบเจอด้วยกันในช่วงนี้ทำให้เราผูกพันกันมากขึ้น

  • ขอให้เรารักกันและกัน

เมื่อคุณหันหลังกลับมาและมองย้อนก้าวเดินของตัวเอง ให้คิดว่าชีวิตของคุณดีขึ้นอย่างไรบ้างเพราะลูก และฝึกวิธีนี้ต่อไป จำไว้ว่าเด็กทารกและผู้ดูแลต่างก็มีอิทธิพลซึ่งกันและกัน หากผู้ดูแลรู้สึกหงุดหงิด การเดินช้า ๆ และตั้งใจ ให้ความสนใจกับบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ใช่เด็กทารกที่กำลังงอแง และวิธีที่จะทำให้เด็กทารกหายงอแงจะช่วยสงบจิตใจของผู้ดูแลและดูแลเด็กทารกต่อได้



เด็กวัยหัดเดิน


การเลี้ยงเด็กวัย 2-4 ขวบ เป็นสิ่งที่ทั้งคุ้มค่าและท้าทายอย่างมาก


การเดินหน้าต่อ


ภายในไม่กี่เดือน เด็กวัยหัดเดินจะเริ่มหัดภาษา เริ่มควบคุมร่างกายได้และเริ่มมีความอิสระ แม้จะยังอยู่ในวันเด็กขนาดนี้ เด็กวัยหัดเดินก็เริ่มสัมผัสและเข้าใจสติได้ เมื่อเด็กอารมณ์ดี การฝึกสติจะสามารถช่วยให้พวกเขาคุ้นเคยกับความรู้สึกมีความสุขและขอบคุณ และเมื่อพวกเขาอารมณ์เสีย การฝึกสติก็สามารถช่วยให้พวกเขาก้าวผ่านประสบการณ์ชั่วขณะที่อาจทำให้พวกเขาร้องไห้ และให้ความสนใจกับความรู้สึกอื่น ๆ ที่ดีกว่าแทน การก้าวผ่านนี้ช่วยย้าย Ms. Greenland กล่าวว่า

“ความสนใจของพวกเขาออกจากสิ่งใดก็ตามที่พวกเขากังวล และนำพาความสนใจของพวกเขามาสู่ปัจจุบัน เช่น ความรู้สึกของลมหายใจเข้าออก”
“เราจะไม่เสแสร้งว่าไม่มีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น แต่ลองคิดถึงสิ่งดี ๆ สักสามสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ด้วย”

แน่นอนว่าวิธีที่ดีที่สุดในการฝึกสติให้กับเด็กวัยหัดเดินคือการปลูกฝัง Ms. Kim กล่าวว่า

“เมื่อนึกถึงการฝึกสติสำหรับเด็ก ฉันคิดถึงวัฒนธรรมในครอบครัว เราต้องมุ่งเน้นไปที่พ่อแม่”

ในขณะที่ลูกของคุณยังเด็ก พยายามปลูกฝังนิสัยการใส่ใจในเรื่องที่ดีโดยการฝึกพวกเขาด้วยตัวคุณเอง ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้

  • อย่าดูโทรศัพท์บ่อยเกินไปเมื่อลูกของคุณอยู่ด้วย

  • ใช้เวลาทำกิจกรรมที่ส่งเสริมความใส่ใจ ความคิดสร้างสรรค์และการตั้งคำถาม เช่นการอ่าน การทำงานศิลปะ และการสนทนากันแทนที่จะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับทีวี

  • ปฏิบัติกับคนอื่นโดยเฉพาะเด็ก ๆ ด้วยความใจดี แม้ตอนนั้นคุณจะหงุดหงิดและอารมณ์เสีย

  • แสดงความขอบคุณสำหรับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตที่คุณรู้สึกขอบคุณ

Ms. Kim กล่าวว่า

“เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าดูโทรศัพท์บ่อยแค่ไหน หรือหันหลังโดยจดจ่ออยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์บ่อยแค่ไหน เราวอกแวกมากและกำลังแสดงนิสัยเหล่านั้นให้ลูกๆ เห็น”
“รากฐานของการปลูกฝังสติคือการมองนิสัยที่วอกแวกของตัวเองและพยายามเปลี่ยนมัน”

การฝึกหายใจ


แม้จะตั้งใจอย่างดีที่สุด การเลี้ยงดูเด็กวัยหัดเดินก็ไม่ใช่เรื่องง่าย วิธีที่กล่าวถึงไปข้างต้นซึ่งเรียกว่า S.T.O.P. นั้นมีประโยชน์ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก


นอกจากนี้ การทำความรู้จักร่างกายของเราเองก็เป็นส่วนสำคัญของการฝึกสติ เริ่มด้วยการหายใจ การฝึกหายใจสามารถช่วยให้คุณคุ้นเคยกับจังหวะร่างกายของตัวเอง ลองฝึกวิธีนี้ หลังจากนั้นให้คิดว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตคุณอย่างไร อาจจะเป็นตอนที่คุณเหนื่อย หรืออาจจะเป็นตอนที่คุณกังวลเกี่ยวกับบางอย่างหรือเปล่า?


เด็กเล็ก


อย่าทำให้การฝึกสติดูเหมือนสิ่งที่ต้องใช้เมื่อคุณเดือดร้อนเท่านั้น ให้มองสติเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ในหลายสถานการณ์


มีสติในทุกวัน


เมื่อเด็กเติบโตเข้าสู่วัยเด็กตอนต้น พวกเขาไม่เพียงแต่สามารถฝึกสติโดยคำแนะนำจากพ่อแม่และผู้ดูแล แต่ยังสามารถสะสมทักษะและนำมาใช้ต่อไปเมื่อจำเป็นได้อีกด้วย Ms. Greenland กล่าวว่า

“เมื่ออายุราว 4 ขวบ พวกเขาจะสามารถเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้เอง”

เพื่อปลูกฝังนิสัยเหล่านี้ให้เด็ก การฝึกคือกุญแจสำคัญ อย่าทำให้สติกลายเป็นสิ่งที่ต้องใช้เฉพาะเวลาเครียด แต่ให้การฝึกสติกลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน เป็นกิจกรรมในตัวมันเอง เช่น การอ่าน การเล่นนอกบ้านหรือทำงานศิลปะ และแทนที่จะทำให้การฝึกสติดูเป็นเพียงวิถีทางแก้ไข หรือทางออกสำหรับสถานการณ์ที่รำคาญใจ ให้มองมันเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยให้เด็กได้สำรวจความรู้สึกใหม่ ๆ รวมถึงความรู้สึกพอใจ เฉย ๆ หรือความรู้สึกไม่คุ้นเคย

Ms. Morey กล่าวว่า

“ใช้สติเป็นเครื่องมือสำรวจความใจดีและความอยากรู้อยากเห็น ถามเด็กว่าร่างกายของพวกเขามีความรู้สึกอย่างไรบ้าง”

พ่อแม่สามารถปลูกฝังสติให้เด็ก ๆ ต่อไป และควรสะดวกใจที่จะทำสมาธิต่อหน้าลูก Ms. Harris กล่าวว่า

“การทำสมาธิท่ามกลางสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็เป็นวิธีที่เยี่ยมมากเช่นกันสำหรับพ่อแม่ เด็ก ๆ อาจไม่รู้ว่าเราทำอะไรอยู่เมื่อเราทำสมาธิ แต่พวกเขาจะเลียนแบบพฤติกรรมและพวกเขาก็สนใจ”

การสอนให้รู้จักการให้อภัย


เมื่อเด็กโตขึ้นและเริ่มมีอิสระมากขึ้น พ่อแม่และผู้ดูแลจะเริ่มมีปัญหากับการเสียการควบคุม เมื่อเด็กอยู่ที่โรงเรียนและออกไปข้างนอกกับเพื่อน ๆ พ่อแม่แทบจะทำอะไรไม่ได้เลยกับการที่จะมีอิทพลกับชีวิตของลูกในช่วงนี้ และเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือสิ่งที่เลวร้ายเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ สิ่งสำคัญสำหรับพ่อแม่คือการเผชิญกับสิ่งนั้นด้วยสติ


แทนที่จะรู้สึกโมโหกับปัญหาอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น ขอให้จดจำและแก้ปัญหา ในขณะเดียวกันก็ตระหนักว่ามันเป็นสิ่งชั่วคราวและมันจะผ่านไป หากเด็กประพฤติไม่ดี พยายามให้อภัยพวกเขา

และหากพ่อแม่หรือผู้ดูแลโทษตัวเอง พวกเขาเองก็ควรเรียนรู้ที่จะให้อภัยตัวเองด้วยเช่นกัน Ms. Greenland กล่าวว่า

“ปัญญาไม่ได้เกิดจากความสมบูรณ์แบบ ปัญญาเกิดจากการอยู่กับปัจจุบัน”

เด็กวัยเริ่มโต


เด็กสามารถได้ประโยชน์จากสติเมื่อต้องปรับตัวเนื่องจากการย้ายโรงเรียน และเริ่มสัมผัสโลกที่กว้างขึ้น


ในโรงเรียน


เมื่อเด็กเลื่อนชั้นจากประถมสู่มัธยมต้น สติก็เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการช่วยให้เด็กรับมือกับความหลากหลายอย่างมีทักษะมากขึ้น และช่วยให้พวกเขาเข้าใจโลกและตัวเองมากขึ้น Ms. Morey กล่าวว่า

“พวกเขาสามารถได้รับและพบเจอทุกอย่างได้ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งสามารถแปรเปลี่ยนไปเป็นทัศนคติของพวกเขาเอง จงให้พื้นที่พวกเขาในการค้นหาสิ่งที่พวกเขาอยากทำในชีวิตและสิ่งที่พวกเขาเป็น”

ในวัยนี้ การฝึกสติสามารถช่วยเด็กในโรงเรียนได้เช่นกัน งานวิจัยล่าสุดพบว่าเด็กชั้นประถมสี่และประถมห้าที่เข้าร่วมโปรแกรมทำสมาธิเป็นเวลาสี่เดือนแสดงพัฒนาการในการควบคุมกระบวนการคิด ความทรงจำ และคะแนนสอบวิชาคณิตศาสตร์ งานวิจัยอื่น ๆ ก็แสดงให้เห็นว่าสติจะมีประโยชน์เป็นพิเศษกับเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น และยังลดความก้าวร้าว ความกังวล และความเครียดของเด็กได้ จากทั่วประเทศ หลายสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับโรงเรียนประถมไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยก็กำลังนำการฝึกสติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนด้วย


การผ่อนคลายความเครียด


แม้จะมีการฝึกสติ บทบาทการเป็นพ่อแม่ก็ยังคงเป็นสิ่งท้าทาย เมื่อเด็กต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ดีและแย่สลับกันไปซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของพวกเขา เป็นเรื่องง่ายและธรรมชาติที่พ่อแม่จะต้องเจอกับอารมณ์ที่แปรปรวนของลูก ในเวลานี้ การฝึกสติจะช่วยผ่อนคลายความเครียดให้พ่อแม่และผู้ดูแลจากความกดดันในการสอนเรื่องดีและแย่ต่าง ๆ ที่ลูกได้พบเจอ


Ms. Greenland กล่าวว่า

“นี่เป็นจุดที่การไม่ยึดติดกับตัวตนเป็นสิ่งสำคัญมาก พวกเขาไม่เพียงแค่กังวลเรื่องลูก แต่ยังกังวลว่าลูกจะเป็นภาพสะท้อนตัวตนของพวกเขา ทั้งสองอย่างผสมรวมกัน ถ้าลูกเกเรหรือไม่เข้ามหาวิทยาลัย Harvard พ่อแม่ก็จะกังวลว่านี่คือภาพสะท้อนตัวพวกเขาเอง”

วิธีง่าย ๆ อีกวิธีที่เรียกว่า R.A.I.N. สามารถช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบันและไม่จมปลักอยู่กับประสบการณ์ของคนอื่นหรืออารมณ์ของตัวเอง

  • R: Recognize. รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น สังเกตอย่างใจเย็นและยอมรับ

  • A: Accept. ยอมรับชีวิตอย่างที่เป็นโดยไม่ต้องพยายามเปลี่ยนมันทันที หรือไม่ขอให้มันแตกต่างไปจากปัจจุบันนี้

  • I: Investigate. ตรวจสอบความรู้สึก ไม่ว่าความรู้สึกจะทำให้หงุดหงิดหรือมีความสุข พอใจหรือเจ็บปวด ให้สังเกตมัน

  • N: Non-identification. ไม่ยึดติด รับรู้ว่าสิ่งที่คุณรู้สึกอยู่นั้นเกิดขึ้นแค่ชั่วคราวและมันจะผ่านไป มันไม่ใช่สิ่งที่คุณเป็น


วัยรุ่น


วัยรุ่นสามารถมีสติได้แทบจะเหมือนผู้ใหญ่ แต่พวกเขาอาจมีการต่อต้านหรือหงุดหงิดบ้างเมื่อต้องฝึกสติ


มีสติไปด้วยกัน


สำหรับวัยรุ่น หนึ่งในวิธีที่สำคัญที่สุดที่จะฝึกสติคือการให้ความสนใจกับความสัมพันธ์ เช่น การพูดคุยด้วยความเอาใจใส่ มิตรภาพ หรือแม้แต่ความสัมพันธ์เชิงชู้สาว Ms. Greenland กล่าวว่า

“การมีสติในความสัมพันธ์เป็นส่วนสำคัญมากในการฝึกสติ ในแต่ละความสัมพันธ์ หรือแม้แต่ปฏิสัมพันธ์ควรมีความพยายามในการอยู่กับปัจจุบัน ฟังอย่างตั้งใจ และพูดด้วยความซื่อสัตย์และอ่อนโยน”

สำหรับครอบครัว วิธีทำให้สิ่งนี้เป็นเรื่องปกติคือพยายามรับประทานอาหารค่ำร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่พลาดได้ง่ายมากเมื่อตารางเวลาของแต่ละคนไม่เท่ากัน Ms. Morey กล่าวว่า

“เป็นสิ่งเรียบง่าย แต่การร่วมนั่งรับประทานอาหารค่ำร่วมกันสามารถเป็นสิ่งที่ทรงพลังได้ เพียงแค่ลองทำ พยายามแบ่งปันช่วงเวลาดี ๆ ที่เกิดขึ้นในวันของแต่ละคน”

นอกจากนี้ให้พยายามลดสิ่งรบกวนด้วยการเก็บโทรศัพท์หรือเครื่องมืออื่น ๆ ระหว่างที่รับประทานอาหาร และมีช่วงเวลาแห่งความเงียบก่อนจะเริ่มรับประทาน ใช้เวลานั้นในการขอบคุณที่มีสมาชิกในครอบครัวอยู่ด้วย


การเป็นพ่อแม่ที่อยู่กับปัจจุบัน


สำหรับพ่อแม่แล้ว อาจเป็นเรื่องท้าทายที่จะฝึกสติไปพร้อมกับลูก แต่ถ้าวัยรุ่นมัวแต่จมอยู่กับสมาร์ทโฟน จะมีประโยชน์อะไรถ้าหากพ่อแม่ก็เอาแต่เล่นอินเทอร์เน็ตด้วยเหมือนกัน นั่นคือสิ่งที่พ่อแม่ต้องมีสติมากที่สุด แสดงพฤติกรรมที่ดีให้ลูกเห็น อ่อนโยน เข้าอกเข้าใจ และยอมรับในปัจจุบัน Ms. Kim กล่าวว่า

“เป็นสิ่งที่ยากที่จะต้องเตือนตัวเองให้มีสติ เมื่อชีวิตส่วนตัวและการงานของเรายุ่ง แต่ถ้าเราเรียนรู้ที่จะมองว่าการเป็นพ่อแม่ก็คือการฝึกอย่างหนึ่ง นั่นคือการเปิดประตูสู่การใช้ชีวิตในอีกระดับ”



300 views0 comments

Comments


bottom of page